เวลา 10.10 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่ที่จะดำเนินงานโครงการศึกษา ทดลอง การปลูกไม้เสม็ดและใช้ประโยชน์แบบครบวงจร ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อธิบดีกรมป่าไม้ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลการะเกด เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
จากนั้น เสด็จฯ เข้าเต๊นท์เพื่อทรงรับฟังการบรรยายสรุป ดร. พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญมูลนิธิชัยพัฒนากราบบังคมทูลรายงานสรุปภาพรวมของโครงการ อธิบดีกรมป่าไม้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ ผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนากราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อาคารสำนักงาน ที่พักเจ้าหน้าที่ โรงงานแปรรูปไม้เสม็ด ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับผลการศึกษาทดลองการใช้ประโยชน์จากไม้เสม็ด จากนั้น เสด็จฯ ออกจากเต๊นท์ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังศาลหลวงต้นไทร ทรงสักการะศาลหลวงต้นไทร ทรงปล่อยปลา และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาดำเนินการทดลองปลูกต้นเสม็ดชนิดต่างๆ ในสภาพพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังและพื้นที่ที่เป็นป่าพรุ โดยได้รับความร่วมมือในการสนองพระราชดำริจากหน่วยราชการต่างๆ คือ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การศึกษาทดลองดังกล่าวนี้ เป็นการศึกษา ทดลอง การปลูกไม้เสม็ดและใช้ประโยชน์แบบครบวงจร เพื่อศึกษารูปแบบการปลูก คัดพันธุ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างและถ่ายทอดออกสู่ราษฎรไปใช้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ ต่อไป ไม้เสม็ดเป็นไม้ที่มีประโยชน์มาก เปลือกใช้ทำเชื้อเพลิง เนื้อไม้ใช้ทำรั้ว เสา เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ คนทั่วไปมองไม้เสม็ดเป็นไม้ที่ไร้ประโยชน์ แต่โดยความเป็นจริง เสม็ดเป็นไม้เศรษฐกิจที่ล้ำค่าและสามารถช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรได้
เสม็ด เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Myrtales สกุล Malaleuca ชนิด Cajuputi พบทั่วโลกประมาณ 95 สกุล 3,600 ชนิด กระจายอยู่กว้างขวางในเขตร้อน โดยเฉพาะทางซีกโลกใต้ในออสเตรเลียมีถึง 250 ชนิด มีเพียง 9 ชนิด ที่พบนอกประเทศ และมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่แพร่กระจายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอินเดีย คือ ไม้เสม็ดขาว
ไม้เสม็ดขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melaleuca cajuputi Powell ชื่อพื้นเมือง เช่น เม็ด เหม็ด เสม็ดขาว (ใต้) มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5 - 25 เมตร ลำต้นมักบิด เปลือกสีขาวถึงน้ำตาลเทา เป็นแผ่นบางๆ ซ้อนกันเป็นปึกหนา เปลือก ชั้นในบางสีน้ำตาลอ่อน ยอดอ่อน มีขนสีขาวเป็นมัน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปหอกโค้งเล็กน้อย สีเทาแกมเขียว ผิวใบเกลี้ยง ยกเว้นใบอ่อน ซึ่งมีขนยาวเป็นมัน ดอกเป็นช่อคล้ายหางกระรอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว มีขนเล็กน้อย ไม่มีก้านดอก ผลคล้ายถ้วย หรือหมอน สีน้ำตาลเทา มีร่องแคบๆ อยู่ทางด้านบน คล้ายปล่องภูเขาไฟขนาดเล็ก ผลกว้าง ประมาณ 4 มิลลิเมตร ผลแห้งแตกด้านบนมีเมล็ดจำนวนมาก ออกดอกและผลเกือบตลอดปี
การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้เสม็ดขาวในประเทศไทย ไม้เสม็ดขาวขึ้นกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นบริเวณกว้างในภาคใต้และภาคตะวันออก ในภาคใต้ขึ้นในพื้นที่ป่าพรุ ประมาณ 343,441 ไร่ จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ 137,446 ไร่ รองลงมาคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 118,412 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบในจังหวัดสงขลา ปัตตานี พัทลุง สุราษฏร์ธานี ตรัง ชุมพร และตามแนวแคบชายฝั่งหลังป่าชายเลน ส่วนในภาคตะวันออกมีประมาณ 3,578 ไร่
ประโยชน์ของไม้เสม็ดขาว เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำเสารั้ว เฟอร์นิเจอร์และเชื้อเพลิง ผลแห้ง ทำพริกไทยดำ เปลือกใช้อุดรูรั่วของเรือ ทำประทุนเรือ ชุบน้ำมันยางจุดไฟเป็นไต้ ใบสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่าน้ำมันเขียว หรือน้ำมันเสม็ด มีกลิ่นคล้ายการบูร มีรสขมใช้ทาแก้เคล็ด เมื่อยปวด รับประทานแก้จุกเสียด ท้องขึ้น ลมชัก ขับเหงื่อ เมื่อนำใบและเปลือกตำรวมกันใช้พอกแผลที่กลัดหนอง ช่วยดูดหนองให้แห้ง ทาฆ่าหมัด เหา และไล่ยุง
ศาลหลวงต้นไทร ตั้งอยู่บริเวณริมคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราดชำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดสร้างศาลดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชน
การก่อสร้างศาลหลวงต้นไทร เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไป ณ พื้นที่ป่าชายเลนแปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีราษฎรลุ่มน้ำปากพนังกราบบังคมทูลเรื่องการขุดคลองชะอวด-แพรกเมือง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ว่าการขุดคลองดังกล่าวมีช่วงหนึ่งที่ไม่สามารถขุดได้ เนื่องจากมีต้นไทรใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตั้งอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดสร้างศาลต้นไทร เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่ประชาชนในพื้นที่
ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติงบประมาณให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการก่อสร้างศาลดังกล่าว โดยมีนาวาเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ดูแลออกแบบ เมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ประสานกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เพื่อคำนวนฤกษ์ศุภมงคลการพิธีตั้งศาลตามฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2547 เวลา 10.09 น.
ศาลหลวงต้นไทร นอกจากจะเป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังช่วยทำให้ภูมิทัศน์โดยรอบสวยงามขึ้น ภาพที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญลักษณ์ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นที่รวมศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่คู่กันอีกส่วนหนึ่งด้วย
สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา