วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนากว๊านพะเยาในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำ ณ กว๊านพะเยา มีพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ประมง และผลิตประปา ปัญหาที่ตามมาคือ พื้นที่ป่าต้นน้ำกว๊านพะเยาถูกบุกรุกเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ลำน้ำสาขาถูกจับจองเป็นที่ทำกิน เกิดตะกอนดินทับถม รวมถึงผักตบชวา ทำให้คุณภาพน้ำลดลง เกิดน้ำท่วมหลาก และประสบปัญหาน้ำแล้งต่อเนื่อง จากปัญหาดังกล่าวภาคประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดพะเยา ได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยในปี พ.ศ. 2553 คณะได้เดินทางเข้าพบ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อบอกเล่าปัญหาความเดือดร้อน พร้อมทั้งขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพิจารณารับปัญหาของกว๊านพะเยา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำความกราบบังคมทูลฯ และทรงมีพระราชดำริรับโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแหล่งน้ำ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักประสานจัดทำแผนพัฒนาและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนากว๊านพะเยา และมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหา อาทิ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ฯลฯ ร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการพัฒนากว๊านพะเยา” ทั้งเรื่องป่าต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำ ลำห้วยสาขา ทรัพยากรแหล่งน้ำ และด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นรูปธรรมภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน
ในส่วนของการพัฒนาอาชีพของราษฎรชุมชนรอบกว๊านพะเยา ร้านภัทรพัฒน์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยแบ่งเป็นการแปรรูปอาหาร และงานหัตถกรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาลวดลาย บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการคำนวณต้นทุนการผลิต และหาตลาดรองรับสินค้าและทำการตลาดออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้าต่อไป
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 กว๊านพะเยารอดพ้นภัยแล้ง และบรรเทาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม กว๊านพะเยามีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรได้ตลอดปี ไม่พบปัญหาไฟป่า รวมทั้งมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น รวมทั้งจังหวัด เทศบาล และชุมชน มีข้อมูลน้ำ สามารถติดตามสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ ร่วมกันทั้งสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต