วันพุธที่ 20 มกราคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทอดพระเนตรการปลูกต้นชา การปลูกพืชหลังนา การปลูกมันฝรั่งและกระเทียม การปลูกข้าวบนนาขั้นบันได โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นชา บริเวณแปลงสาธิตของสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากนั้นทรงพระดำเนินไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยเฮี๊ยะ ทอดพระเนตรประเภทป่าของเมืองไทย ไม้สามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ระบบวนวัฒน์ของไผ่ ฝายชะลอความชุ่มชื้น โป่งเทียม การให้อาหารสัตว์ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ สามเหลี่ยมไฟ ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลผลิตรองของป่า อาทิ หนอนไม้ไผ่และเครื่องจักสานที่ทำจากไม้ไผ่ และระบบวนเกษตร ตามลำดับ
จากนั้นทรงพระดำเนินไปยังแปลงศักยภาพการผลิตพืช และระบบการปลูกพืชเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ทอดพระเนตรแปลงทดสอบและคัดเลือกพันธุ์พืชชาน้ำมัน มะขามป้อมอินเดีย มะเดื่อฝรั่ง กระเทียม และมะรุมอินเดีย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กราบบังคมทูลขอสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพระราชดำริเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เมื่อปี 2550
โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้ ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ หมู่ที่ 6 ถนนแม่ใจเหนือ น้ำพุร้อน ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 621 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา
วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางการเกษตรในด้านต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาและการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเป็นอนุสรณ์ถึงความร่วมมือและไมตรีจิตที่ดีงามระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ คือ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อปรับปรุงพื้นที่และจัดวางผังการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดตามแนวพระราชดำริ
นักวิชาการฝ่ายไทย ได้ศึกษาเปรียบเทียบการปลูกข้าว พืชไร่ ไม้ผล เพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ขยายผลสู่เกษตรกร ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไม้ผล เช่น การทดสอบการปลูกมะเดื่อฝรั่ง การทดสอบเปรียบเทียบการปลูกมะขามป้อมพันธุ์ไทยและพันธุ์อินเดีย และการทดสอบการปลูกโลควัท มะละกอ สตอเบอรี เกาลัด ทับทิม และอะโวคาโด้ รวมทั้งได้มีการศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได
การศึกษาทดลองการปลูกพันธุ์พืชน้ำมัน ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ส่งเมล็ดพันธุ์พืชให้ทดสอบ ได้แก่ ฟักทอง (พันธุ์ลูกผสม จีน และออสเตรเลีย) และมะรุม นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้นำพันธุ์พืชน้ำมันมาทดสอบเพิ่มเติม ได้แก่ โพธิสัตว์ และมะเยาเหลี่ยม ซึ่งน้ำมันที่สกัดได้สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการเคลือบธนบัตร และน้ำมันขัดเงา
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชสวนอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การปลูกชา และการปลูกกาแฟอาราบิก้าในพื้นที่สูง ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชผัก สมุนไพร เครื่องเทศ และการผลิตไม้ดอก ไม้หอม และไม้ประดับ รวมทั้งการทดสอบพันธุ์กระเทียมของไทย เพื่อนำไปขยายผลในโครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ จังหวัดพะเยา การปลูกรวบรวมพันธุ์มันฝรั่ง และมันเทศ และการรวบรวมพันธุ์พืชกลุ่มกล้วยไม้ กลุ่มเฟิร์น ที่กำเนิดในพื้นที่
ปลายปี พ.ศ. 2552 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งนักวิชาการด้านพืชมาประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกข้าวในรูปแบบนาขั้นบันได รวมทั้งการศึกษาทดลองการปลูกพืชซึ่งเป็นสายพันธุ์จากจีน ได้แก่ กระเทียม มันฝรั่ง ชา เห็ด และลูกพลับ เป็นต้น ตลอดจนจัดส่งพันธุ์พืชและเครื่องมือการเกษตรสำหรับการเพาะปลูก
...... สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา