วันอังคารที่ 24 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลาประมาณ 8:00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม สำนักงานโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
โครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เริ่มต้นเมื่อปี 2550 สำนักงานการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการ "โครงการเปิดทองหลังพระ" เพื่อเฉลิมฉลอง
วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ 19 โครงการ พร้อมๆกับเรียนรู้แนวพระราชดำริด้านต่างๆ
ต่อมา สำนักงานการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นพ้องกันว่า ควรขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการจากเดิมที่สิ้นสุดในปี 2550 เป็นสิ้นสุดในปี 2554 เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา พร้อมทั้งขยายขอบข่ายของโครงการฯ โดยจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศนำแนวพระราช ดำริไปพัฒนาตนเองและท้องถิ่น เพื่อแก้ไขความยากจน และได้ปรับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ"
การดำเนินงานของโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มุ่งเน้นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่สู่ชุมชน โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการให้เปิดการบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติหลัก คือ น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และ สิ่งแวดล้อม โดยจะปรับน้ำหนักของแต่ละเรื่องให้เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพภูมิสังคมและสภาพปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่
ลักษณะการดำเนินงานจะเป็นการเชื่อมโยง ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ เป็นหลัก ในที่นี้ ต้นน้ำ หมายถึงแหล่งองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ กลางน้ำ เป็นส่วนที่โครงการปิดทองหลังพระฯ มีบทบาทในการจัดการความรู้ร่วมกับสถาบันวิชาการ สถาบันวิจัย ในการรวบรวมและประมวลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริเพื่อเชื่อมโยงและส่งเสริมการพัฒนาในระดับพื้นที่ ขณะที่ปลายน้ำ เป็นการบูรณาการระดับพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัด และภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และ ภาคธุรกิจ
โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่ประยุกต์มาจากหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ 7 ขั้นตอน คือ
1) การสร้างความเข้าใจกับประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ ภาคีความร่วมมือ
2) การกำหนดพื้นที่ ได้แก่ การพิจารณาภูมิสังคม และสภาพปัญหาของชุมชนแต่ละพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการพัฒนา
3) การถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายก่อนเริ่มกระบวนการพัฒนา
4) การลงมือปฏิบัติ คือ การที่ชุมชนและภาคีทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนา โดยเรียนรู้จากโครงการพระราชดำริ และนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม ศักยภาพชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
5) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนที่เน้นการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติ เพื่อสรุปบทเรียน ข้อค้นพบและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
6) การให้คำปรึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นการจัดทีมสนับสนุน ให้คำปรึกษาแก่พื้นที่ที่โครงการปิดทองหลังพระฯ ส่งเสริมการพัฒนา
7) การวัดผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อประเมินผลการดำเนินงานว่า มีผลสำเร็จ หรือมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดแรกที่โครงการปิดทองหลังพระฯ ได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาต้นแบบการบูรณาการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ ด้วยแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่มีประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาหลากหลายด้าน เช่น เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน ศูนย์ประสานงานประชาคมน่าน มูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มมีการทำงานที่ยาวนานและชัดเจน และมีการประสานความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและมีความ สัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนประชาสังคม เช่น องค์กรบริหารส่วนจังหวัดน่านให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่เขตป่าอนุรักษ์
น่านมีเนื้อที่ภูเขาร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ลักษณะของภูมิประเทศดังกล่าวทำให้จังหวัดน่านมีพื้นที่ราบในการทำเกษตรกรรมน้อย ความลาดชันของพื้นที่สูง ทำให้ปริมาณน้ำไหลแรงในหน้าฝน เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินจากที่สูงลงสู่พื้นราบ ทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและโคลนถล่มในพื้นที่ตอนล่างลงมา นอกจากปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติแล้ว ชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ได้แก่ เผ่าไทลื้อ เผ่าก่อ เผ่าเย้า(เมี่ยน) ม้ง ขมุ ถิ่น เป็นต้น ทำเกษตรโดยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ลำไย ลิ้นจี่ มีการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ และสุขภาพอนามัยของประชาชน
จากสภาพภูมิสังคมที่ใกล้เคียงกัน จังหวัดน่านจึงได้เข้าศึกษาและดูงานที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าและพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ และได้ขอความร่วมมือจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน นับเป็นกระบวนการ “ระเบิดจากข้างใน” คือชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาก่อน แล้วจึงนำหลักการดำเนินงานของโครงการไปประยุกต์ปรับใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิสังคมของตนเอง
โครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ได้เริ่มปฏิบัติงานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 ในพื้นที่นำร่องขนาดเล็ก ตามหลักการ “แก้ปัญหาที่จุดแรกและทำตามลำดับขั้นตอน” ที่หมู่บ้านยอด ตำบลยอด อำเภอสองแคว ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักด้านซ้ายของแม่น้ำน่าน และหมู่บ้านน้ำป้าก ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำสบสาย
ปัจจุบัน โครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลตาลชุมและตำบลศรีภูมิ ในอำเภอท่าวังผา ตำบลยอดในอำเภอสองแคว และตำบลขุนน่าน ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยในทั้ง ๓ พื้นที่ โครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน มุ่งสร้างกรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาทั้งลุ่มน้ำ ทั้งที่ต้นน้ำ ที่ลุ่มน้ำสาขา และที่ลุ่มน้ำจิ๋ว เน้นการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ๖ มิติหลัก ปรับตามสภาพภูมิสังคมและสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ และน้อมนำหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหัวใจในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการพัฒนาคน ถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังความคิดและค่านิยมของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสืบสานงานพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคต
ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโครงการฯ นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปสู่การปฏิบัติของชุมชนอย่างกว้างขวาง และพัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แบบบูรณาการ อันเป็นต้นแบบสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังเนินจุดประกาย บ้านน้ำป้าก ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศโดยรอบที่เคยเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำสบสาย อันเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน
อำเภอท่าวังผาอยู่ในลุ่มน้ำน่านตอนบนฝั่งซ้ายหรือลุ่มน้ำยาว ที่ไหลมาบรรจบกับลุ่มน้ำน่าน ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่สูงชัน ประกอบกับเป็นจุดคอขวด ทำให้เมื่อมีฝนตกหนักจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก
ลุ่มน้ำสบสาย เป็นลุ่มน้ำสายสำคัญของแม่น้ำน่าน ร้อยละ 83 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่สูงชันมาก การใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่หมุนเวียน เช่นข้าวโพด และข้าวไร่ สภาพป่าต้นน้ำที่เคยสมบูรณ์ในอดีต ปัจจุบันได้ถูกบุกรุกเพื่อทำการเพาะปลูก มากกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่
ด้วยลักษณะเป็นลุ่มน้ำปิด และมีศักยภาพในการขยายผลเชิงระบบและพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ “การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ” ได้ โครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน จึงมีเป้าหมายในการถ่ายทององค์ความรู้ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ความยากจน และหนี้สินในพื้นที่ การใช้สารเคมีในการเกษตร และยุติการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ด้วยการเผาหรือแผ้วถางป่าในที่สุด
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดระบบส่งน้ำ ฝายน้ำป้าก เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมในชุมชนบ้านน้ำป้าก บ้านห้วยธนู และบ้านห้วยม่วงให้มีน้ำตลอดปี ฝายน้ำป้ากเป็นฝายหินก่อ กว้าง 18 เมตร ยาว 24 เมตร สูง 1.2 เมตร มีความจุ 518 ลบ.เมตร มีพื้นที่รับน้ำ 233 ไร่ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวและพืชหลังนาได้ สามารถสร้างรายได้ให้ราษฎรที่ทำกินในพื้นที่ ประมาณ 1,340,000 บาท ภายใน 1 ปี โดยปลูกข้าว 1 ครั้ง และปลูกถั่วเหลืองหลังนา โดยมีต้นทุนในการก่อสร้างทั้งสิ้น 2,379,995 บาท เป็นค่าฝาย 474,490 บาท ระบบส่งน้ำระยะทาง 3,200 เมตร เป็นเงิน 1,905,305 บาท ฝายดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุนภายใน 1ปี 9 เดือน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินยังแปลงนาที่ได้รับอุทกภัยและดินถล่มที่เกิดขึ้นในปี 2551 จากภัยพิบัติในครั้งนั้น นำพาเอาหิน ท่อนซุง ท่อนไม้เข้ามา ในพื้นที่นา ฝายถูกทำลาย พื้นที่ 164 ไร่ ที่เป็นที่นาเสียหาย เหลือใช้การได้เพียง 37 ไร่
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 7,000 บาทต่อไร่ มาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยภิบัติ นอกจากนี้ราษฎรในพื้นที่ประสบภัยเองก็ได้ร่วมมือช่วยกัน โดยใช้หินในแม่น้ำ กระสอบทราย และวัสดุในพื้นที่ ซ่อมแซมฝาย 8 ฝายที่ถูกทำลาย แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องน้ำการเกษตร และหินปริมาณมากที่ยังค้างอยู่ในพื้นที่นา
จากนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่นาขั้นบันได ที่โครงการปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน ได้นำองค์ความรู้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ลดการใช้พื้นที่ป่า ปลูกนาขั้นบันได” ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานอยู่ในพื้นที่บ้านกอก บ้านจูน ตำบลภูคา อำเภอปัว และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มาขยายผลในทั้ง ๓ พื้นที่ดำเนินการ เพื่อปรับสภาพดินและเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ควบคู่กับการลดพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่
ต่อมา เสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงเรือนเพาะชำของกองทุนเมล็ดพันธุ์ และทรงฟังบรรยายสรุป
โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน ได้สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ สำรวจข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ด้านพื้นที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พันธุ์ไม้ป่า ประชากร สภาพทางเศรษฐกิจ และความต้องการของชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักและความเป็นเจ้าของร่วมของชุมชน โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร และการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนเมล็ดพันธุ์ ปศุสัตว์ ประมง และส่งเสริมการปลูกและดูแลรักษาป่าเศรษฐกิจ เป็นต้น
เป้าหมายของโครงการ คือ การขยายผลเต็มพื้นที่จังหวัด โดยจังหวัดน่านจะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน นำต้นแบบจากพื้นที่โครงการไปปรับใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหา เน้นการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ สร้างความเป็นเจ้าของร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว โดยจังหวัดน่านจะสามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พื้นที่อื่นๆได้นำไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร โดยการทำงานแบบบูรณาการระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และภาควิชาการ นับเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านความรู้และการพัฒนา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนพึ่งตนเองได้ ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...ยืนบนขาของตนเอง หมายความว่า สองขาของเรานี้ ยืนบนพื้นให้อยู่โดยไม่หกล้ม ไม่ต้องไปยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน...”
แนวทางการดำเนินงานของโครงการปิดทองหลังพระฯ ได้รับการยอมรับจากจังหวัดน่าน โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ประชาชนจังหวัดน่านทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ "วาระน่าน – โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริจังหวัดน่าน" เพื่อเตรียมความพร้อม สืบสานและขยายผลงานพัฒนาที่โครงการปิดทองหลังพระฯ ได้ดำเนินงานจุดประกายไว้ จากพื้นที่ดำเนินการใน ๓ อำเภอ สู่พื้นที่ขยายผลอีก ๑๒ อำเภอ ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด นับเป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” ของประชาชนจังหวัดน่าน ในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาร่วมพัฒนาจังหวัดน่านอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีแผนการดำเนินงานต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายสูงสุดในปี 2554 คือ ทำกิจกรรม 1 ล้านกิจกรรมพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (84 พรรษา) ในปี 2554 และ ปลูกป่า 80 แสนไร่ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 ซึ่งจะเป็นการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาปฎิบัติหรือขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งผลที่ได้รับ ประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้น ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขสืบไป