วันที่ 30 กรกฎาคม 2553
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นำคณะ ผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ปี 2552 และเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2553 การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การคาดการณ์สภาพอากาศประเทศไทย ปี 2553 การปรับปรุงสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติและระบบโทรมาตร เพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาภัยแล้ง และผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนว พระราชดำริ ครั้งที่ 3 กับรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับรายงานสรุปสถานการณ์น้ำในประเทศไทยนั้น รวบรวมข้อมูลโดยการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่าง ประเทศ ผ่านระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการตั้งแต่พุทธ ศักราช 2541 และระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงในพุทธศักราช 2545 ปัจจุบันได้ขยายผลการดำเนินงานเพิ่มเติมโดยการพัฒนาระบบคลังข้อมูลสภาพอากาศ ประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพอากาศแต่ละพื้นที่ของประเทศ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการในปีที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยทั้งปี 1,403 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 2 ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2552 มีปริมาณน้ำฝนมาก และต่ำลงในช่วงปลายปี เนื่องจากอิทธิพลของเอลนีโญ เป็นปรากฏการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยแล้งน้ำท่วม และรูปแบบของฝนและอุณภูมิที่มีการผันแปรในภูมิภาคต่างๆของโลก อีกทั้งฝนที่ตกหนักจากพายุเพียงหนึ่งครั้ง คือพายุไต้ฝุ่นกฤษณา เป็นเหตุให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 311 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2552 ส่วนในปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน 2553 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนสะสม เฉลี่ย 381 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 22 เนื่องจากอิทธิพลของเอลนีโญต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงพสกนิกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ซึ่งได้พระราชทานฝนหลวงพิเศษ เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจสภาพอากาศปริมาณน้ำฝนและวัดระดับน้ำเสริมระบบ โทรมาตรเดิมบริเวณเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี รวมทั้งพัฒนาระบบรายงานสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงพระราชทานใน 4 เขื่อนดังกล่าว และ ต่อเชื่อมข้อมูลโทรมาตรเดิมในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยแสดงผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และผ่านโทรศัพท์มือถืออีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่พบว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณภูมิในมหาสมุทรแปซิกฟิกผิดปกติไปจากค่าเฉลี่ย คือ หากอุณภูมิในมหาสมุทรแปซิกฟิก บริเวณใกล้ประเทศฟิลิปปินส์สูงกว่าปรกติ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ลานีญา ประเทศไทยจะมีฝนมาก ในทางตรงกันข้าม หากอุณภูมิในบริเวณนั้นต่ำกว่าปรกติ ก็จะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ ประเทศไทยก็จะมีฝนน้อย
สำหรับการปรับปรุงสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศ อัตโนมัติได้ดำเนินการปรับปรุงแล้ว 439 สถานีทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีสถานีโทรมาตรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา จำนวน 31 สถานี แล้วยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลม จำนวน 110 ชุด ในสถานีโทรมาตรดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลไปประมวลผล จัดทำแผนที่ลมติดตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อไป
ส่วนผลการประกวด จัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 3 ซึ่งมีชุมชนทั่วประเทศร่วมการประกวด ได้พบ 6 แบบอย่างความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลความสำเร็จ ได้แก่ การจัดผังน้ำและระบบส่งน้ำชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลความสำเร็จ ได้แก่ การจัดผังน้ำระบบชุมชน การจัดทำฝายชะลอน้ำรูปแบบต่างๆ การรักษาแหล่งน้ำด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ การจัดการน้ำของชุมชนบริเวณป่าต้นน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก การรักษาป่าต้นน้ำด้วยภูมิปัญญาและประเพณีตามวิถีชุมชน และการจัดการป่าต้นน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด