วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตอำเภอ คุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบด้วย โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม โรงเรียนบ้านทุ่งรักชัยพัฒน์ โครงการชัยพัฒนา–กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) และในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประกอบด้วย โรงพยาบาลท้ายเหมือง โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าฯ รับเสด็จ
โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม และ โรงเรียนบ้านทุ่งรักชัยพัฒน์ เป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงอาคารเรียนที่มีสภาพทรุดโทรม ตลอดจนพัฒนาด้านการศึกษาแก่โรงเรียน เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและเป็นความต้องการของนักเรียน โรงเรียนทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการชัยพัฒนา–กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิของมูลนิธิชัยพัฒนา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อใหม่แก่โรงเรียน และเสด็จฯ มาทรงเปิดป้ายชื่อโรงเรียน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 และได้เสด็จฯ มาทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของโรงเรียนอีกหลายครั้งด้วยกัน
การเสด็จฯ พระราชดำเนินในครั้งนี้ เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่ได้พระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 สรุปความว่า ด้านการเรียนการสอนเน้นในเรื่องของอาชีพและการศึกษาทางตรง โดยใช้สิ่งที่มีอยู่รอบตัวประกอบการเรียนการสอน โดยเน้นทางด้านการเกษตรและการประมง การใช้คอมพิวเตอร์มาประกอบการเรียนการสอน เพื่อหาความรู้และข้อมูลต่างๆ และรู้จักการปิดเปิดเครื่องและพิมพ์ดีดข้อมูล ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสุขอนามัยให้แก่เด็ก โดยให้ชุมชน รวมทั้งส่วนราชการ เช่น สาธารณสุข เกษตร และประมง เข้ามามีบทบาทด้วย ตลอดจนให้โรงเรียนเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่โครงการที่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการ และให้นักเรียนคิดและจัดทำโครงงานต่างๆ เพื่อส่งประกวดในกิจกรรมของเยาวชน สำหรับผลผลิตที่ผลิตออกมาได้ ให้ดูว่ามีจำนวนที่สามารถพอกินเองได้และถ้าเหลือให้นำออกจำหน่าย ในส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ที่จัดทำขึ้น ควรรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานและแจ้งวันที่ผลิตและวันหมดอายุของสินค้า
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม ทรงรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของโรงเรียน แนวทางการพัฒนาการศึกษาการเรียนการสอน และทอดพระเนตรโครงงานของนักเรียนโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม และโรงเรียนบ้านทุ่งรักชัยพัฒน์
โรงเรียนได้ยกร่างหลักสูตรและทดลองใช้ในช่วงภาคเรียนที่ 2/2551 และได้ปรับปรุงรายละเอียดของเนื้อหาในหลักสูตรให้เหมาะสมขึ้น ปัจจุบันโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรสาขาอาชีพเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1/2552 โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงา เพื่อดำเนินงานโครงการ ดังนี้
โรงเรียนบ้านทุ่งรักชัยพัฒน์ ได้จัดทำหลักสูตรในสาขาวิชา จำนวน 2 สาขาวิชา คือ หลักสูตรการเลี้ยงสัตว์ (ปลาดุกและไก่ไข่) เปิดสอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 และหลักสูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม ความต้องการของนักเรียนในการจัดทำหลักสูตรสาขาวิชาชีพ มีจำนวน 3 สาขาวิชา คือ 1) หลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ 2) หลักสูตรสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ 3) หลักสูตรสาขาเกษตรกรรม เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทั้งด้านทฤษฎี และปฏิบัติจริงที่ได้จากการศึกษาดูงานกับแหล่งเรียนรู้และสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว องค์กรหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีนักเรียนเรียนในหลักสูตรดังกล่าว จำนวน 298 คน
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังโครงการชัยพัฒนา–กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) เพื่อทรงรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และความปลอดภัยของอาหาร โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทอดพระเนตรการจัดทำโฮมสเตย์ของนักเรียนโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม ในหลักสูตรสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม โอกาสนี้ ทรงลงทะเบียนเข้าพักโฮมสเตย์ ทรงเลือกห้องพัก จากที่มีด้วยกัน 3 ห้อง คือ ห้องช้าง ห้องเต่า และห้องกระต่าย จากนั้นทอดพระเนตรห้องที่ทรงเลือกและทรงรับฟังการบรรยายสรุปจากนักเรียน
โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และความปลอดภัยของอาหาร โครงการดังกล่าวนี้ เป็นการดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความสะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานสำหรับการบริโภค ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงาน โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยของอาหาร ประกอบด้วย โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลานิล โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะพง และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี
ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการดำเนินงานในระยะปีแรก ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบวัตถุดิบที่มูลนิธิชัยพัฒนาจัดส่งไปให้ พบว่า ปลอดภัย สามารถนำไปพัฒนากระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้ สำหรับการดำเนินงานในระยะปีที่ 2 และปีที่ 3 จะพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ รวมทั้งพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ในตราสินค้าภัทรพัฒน์ เช่น ปลานิลปรุงรส ปลานิลรมควัน ปลากะพงหวาน ปลากะพงปรุงรส ลูกชิ้นปลาญี่ปุ่น ข้าวกึ่งสำเร็จรูป ออกจำหน่ายในโอกาสต่อไป
หลักสูตรสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม โดยการจัดทำเป็นโฮมสเตย์นี้ สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม และนักเรียนมีความประสงค์ที่จะประกอบอาชีพให้บริการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม สำหรับหลักสูตรนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากโรงแรมภูเก็ตเกรซแลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ได้ให้การสนับสนุนบุคลากรที่มีประสบการณ์ในเรื่องของการโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาจีน เข้ามาสอนเสริมในหลักสูตรดังกล่าว และให้นักเรียนเรียนในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยการนำนักเรียนเข้าไปฝึกงานการโรงแรมในเครือภูเก็ตเกรซแลนด์
นอกจากนี้ นักเรียนที่เรียนในหลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เน้นการเรียนในเรื่องคอมพิวเตอร์เบื้องต้น การเขียนและการใช้โปรแกรมต่างๆ การประมวลผลข้อมูล การสร้างเว็บเพจ และการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการเรียนการสอนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลพระจอมเกล้าธนบุรี นักเรียนในหลักสูตรนี้ เป็นผู้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ในการประชาสัมพันธ์โฮมสเตย์ การจัดทำเว็บไซต์โฮมสเตย์
สำหรับ นักเรียนที่เรียนในหลักสูตรสาขาเกษตรกรรม ซึ่งเน้นการเรียนรู้ด้านการปลูก ขยายพันธุ์พืช เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชสมุนไพร ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ดอกไม้ประดับ การเพาะและผลิตเชื้อเห็ด การจัดสวน การเลี้ยงปลาน้ำจืด ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนการเรียนการสอน พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา และคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากหลักสูตรนี้ เพื่อบริโภคในโรงเรียนและใช้ในโฮมสเตย์
การจัดทำหลักสูตรและการดำเนินงานที่ต่างต้องประสานสอดคล้อง และพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้นักเรียนได้รู้จักใช้ความคิด มีแผนการทำงานร่วมกัน ร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนเมื่อจบการศึกษาและต้องไปทำงานร่วมกับผู้อื่น จะทำให้นักเรียนสามารถนำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตจริงได้อย่างมีความสุข
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยัง โรงพยาบาลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการก่อสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาล ตลอดจนการดำเนินงานของโรงพยาบาลและศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย ทรงเยี่ยมผู้ป่วยคนไข้ใน และพระราชทานถุงของขวัญแก่ผู้แทนผู้ป่วย ชาย-หญิง
โรงพยาบาลท้ายเหมือง แต่เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและอาคารสถานที่ไม่เพียงพอแก่การให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วย ประกอบกับสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลเป็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่บนเส้นทางไปจังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา และเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้พระราชทานพระราชกระแส เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ครั้งที่ได้เสด็จฯ มาทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลท้ายเหมือง
มูลนิธิชัยพัฒนาและสภากาชาดไทย ได้สนองพระราชดำริโดยการจัดทำแผนงานและงบประมาณ เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลท้ายเหมือง ประกอบด้วย การต่อเติมห้องคัดกรองผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารผู้ป่วยนอก พร้อมทั้งขยายและต่อเติมพื้นที่บางส่วนของอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ รวมทั้งปรับปรุงอาคารอื่นๆ ในโรงพยาบาลฯ ที่มีสภาพที่ทรุดโทรม เช่น อาคารพักและบ้านพักของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น การปรับปรุงและซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ระบบประปาและระบบโทรศัพท์ งานก่อสร้างบ่อน้ำพร้อมระบบสูบ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ภายในโรงพยาบาลเวลาช่วงหน้าแล้ง และก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมคูระบายน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายผู้ป่วยและผู้ที่มาใช้บริการ
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา