วันที่ 26 สิงหาคม 2554 เวลา 09.15 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนาถวายพระพรให้ทรงทราบรายงานผลการดำเนินงานการพัฒนา และศูนย์เด็กเล็กสิรินธร จังหวัดสระบุรี พร้อมเบิกราษฎรที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร จำนวน 10 ราย เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเหรียญที่ระลึก
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณ วัดมงคลชัยพัฒนา ทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ทรงหว่านข้าวบริเวณ แปลงนาในโครงการ ทอดพระเนตรการดำเนินงานในแปลงต่างๆ ตามลำดับ และได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่เกษตรกรที่มอบที่ดินไว้ใช้ในการขยายทางระบายน้ำ และเพื่อกักเก็บน้ำ รวมถึงป้องกันน้ำท่วมบริเวณโครงการฯ จำนวน 4 ราย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อที่ดินบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา และได้จัดซื้อเพิ่มเติมพร้อมกับมีผู้บริจาคอีกในปี 2535 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา เพื่อดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่” โดยให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและสาธิตด้านการเกษตร เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ราษฎรนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในพื้นที่ของตน
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ ดำเนินการโดยจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 จำนวนประมาณ 16 ไร่ จัดทำเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดิน จากนั้นทำการทดลองและสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ และขุดบ่อน้ำไว้ใช้สำหรับใช้ทางการเกษตรกรรม พร้อมปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
ส่วนที่ 2 จัดทำเป็นแปลงสาธิตการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งถือเป็นแปลงทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ดำเนินการ 15-2-24 ไร่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี โดยจัดแบ่งพื้นที่ตามทฤษฎีคือ 30-30-30-10 อันมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ สระเก็บกักน้ำ แปลงนาปลูกข้าว แปลงปลูกพืชไร่พืชสวน และอยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์
และนอกจากการเป็นต้นแบบเรื่องทฤษฎีใหม่แล้ว โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ยังมีรูปแบบการพัฒนาลักษณะผสมผสาน โดยใช้หลักการ “บวร” อันประกอบด้วยบ้าน วัด และราชการหรือโรงเรียน เนื่องจากวัดเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน รวมถึงแหล่งวิทยาการมาแต่โบราณอันเป็นจุดเด่นของไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของวัดในการเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้วัดมงคลชัยพัฒนา เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่นด้านการเกษตร การจัดตั้งกลุ่มพัฒนาอาชีพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฯลฯ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพแห้งแล้งและมีขนาดเล็กให้สามารถทำประโยชน์สูงสุด
จากนั้น เวลา 10.25 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ ทรงรับฟังบรรยายสรุปโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบว่าราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม มีความต้องการเมล็ดพันธุ์พืชไร่ เพื่อปลูกทดแทนพืชเดิมที่สูญเสียไป ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการผลิตพันธุ์พืชไร่ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้นำที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลห้วยหินขาว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ มีความเหมาะสมที่จะผลิตพันธุ์พืชไร่พระราชทาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี ขึ้นเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่พระราชทาน
นับได้ว่า ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชแห่งที่ 2 ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น โดยโครงการแรกนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย” ขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและพัฒนา เก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน ผลิตและสะสมเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ให้ราษฎรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง มีผลผลิตดี ไว้ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน หากมีเหลือจากบริโภค สามารถนำมาจำหน่ายได้ นอกจากนี้ ราษฎรยังสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์เองต่อไปได้
ในการเสด็จพระราชดำเนินศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรีในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้กราบบังคมทูลรายงานเรื่องการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่งเขียวผิวมันพันธุ์กำแพงแสน2 และพันธุ์ชัยนาท72 แผนการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไร่ในอนาคต
กรมพัฒนาที่ดิน กราบบังคมทูลรายงานเรื่องชุดดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่โครงการ แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างดิน และการบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่พระราชทาน
กรมชลประทาน กราบบังคมทูลรายงานเรื่องปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน และแนวทางในการวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูกาลต่างๆ ทั้งนี้ คณะบริหารของกลุ่มผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวร่วมเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย
นอกจากนี้ ได้มีพระราชปฏิสันถารกับผู้นำและกลุ่มราษฎรที่เข้าร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ช่วยกันผลิตเม็ดพันธุ์ถั่วเขียวพระราชทาน อาทิ กำนันตำบลห้วยหินขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 6 ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ห้วยหินขาว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และปราชญ์ท้องถิ่น จากนั้น ได้ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน และทรงเยี่ยมราษฎร
เวลา 14.00 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการจัดสร้างจุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเขตจังหวัดสระบุรี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามยรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ใน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาที่ดินภายในบริเวณโครงการฯ มีความอุดมสมบูรณ์โดยการปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่โครงการฯ เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และการปลูกป่าเชิงอนุรักษ์ เพื่อปรับภูมิทัศน์และสภาพพื้นที่