วันจันทร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
จากนั้นทรงพระดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร เพื่อสักการะสมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ และทรงพระดำเนินไปยังอาคารอำนวยการศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมี นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานภาพรวมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของศูนย์ฯ ในส่วนของมูลนิธิกสิกรไทย จากนั้นทรงพระดำเนินไปยังอาคารพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี(อาคารที่พักผู้ประสบภัย๑) ทรงทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยและกิจกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนแย้มสอาดในการให้ความรู้และจัดกิจกรรมสันทนาการแก่เด็กเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ระหว่างพักอาศัยอยู่ในศูนย์ฯ
ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารท้าววิรุฬหก มหาราชพุทธบัณฑิต (อาคารที่พักผู้ประสบภัย๒)โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงานภาพรวมการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน ๗ ศูนย์ฯ ภายในจังหวัดอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยภายในอาคารที่พัก และทรงทอดพระเนตรกิจกรรมการจัดอบรมอาชีพสำหรับผู้ประสบภัย อาทิ การฝึกอบรมการทำผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร จากโครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปทุมธานี การสอนทำสบู่สกัดจากปาล์มน้ำมัน จากโครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการสอนการประกอบอาหารจากสมาคมเชฟไทย เป็นต้น
ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิกสิกรไทย ในการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือและรองรับผู้ประสบภัยที่ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นศูนย์รับผู้ประสบภัยจากศูนย์ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจนไม่สามารถดูแลผู้ประสบภัยได้ ทั้งนี้นอกจากมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิกสิกรไทยจะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กองทัพบกในการจัดรถบัสรับส่งผู้ประสบภัยมายังศูนย์ฯ กองทัพเรือในการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตามอาคารพักพิงต่างๆ โรงพยาบาลวัดญาณสังวรารามและศูนย์ผู้สูงอายุสมเด็จพระสังฆราช ในการดูแลตรวจสุขภาพผู้ป่วย สาธารณสุขในการตรวจสอบดูแลการจัดอาหารและรักษาสุขภาพ บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด ในการติดตั้งโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวน ๑๒ จุด ฯลฯ
ศูนย์แห่งนี้มีศักยภาพในการรองรับผู้ประสบภัยได้จำนวนประมาณ ๖๓๐ คน ปัจจุบันมีผู้ประสบอุทกภัยอาศัยแล้วประมาณ ๓๖๐ คน โดยในแต่ละวันนอกจากจะดูแลในเรื่องของสถานที่และอาหารแล้ว ศูนย์ฯ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเพื่อเป็นการเสริมทักษะความรู้ให้แก่ผู้ประสบภัย อาทิ การฝึกอบรมวิชาชีพ การพาผู้ประสบภัยไปทัศนศึกษาตามสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในจังหวัดชลบุรี การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ความรู้แก่เด็ก รวมถึงการบริการตรวจสุขภาพ การตรวจวัดสายตาประกอบแว่น การให้บริการโทรศัพท์ฟรี เป็นต้น
นอกเหนือจากศูนย์ฯ จังหวัดชลบุรีแห่งนี้แล้ว มูลนิธิชัยพัฒนายังมีศูนย์ฯ อีกจำนวน ๖ ศูนย์ประกอบด้วย
๑. ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒. ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ในที่ดินของมูลนิธิ ชัยพัฒนา ณ โรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา (ศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนแบบครบวงจร) อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๓. ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพภาคที่ ๑ ประจำพื้นที่ภาคกลาง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๔. ศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนนารายณ์ศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
๕. ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ในที่ดินของมูลนิธิ ชัยพัฒนา ณ โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
๖. ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตอำเภอบางบัวทอง และ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อแจกของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักชลประทานที่ ๙ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทรงทอดพระเนตรสิ่งของที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมทั้งทอดพระเนตรการดำเนินงานบรรจุถุงยังชีพเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่างๆ
สำนักชลประทานที่ ๙ จังหวัดชลบุรี ถือเป็น ๑ ใน ๓ ศูนย์ส่งกำลังบำรุงของมูลนิธิชัยพัฒนา นอกเหนือจากสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และโรงเรียนจิตรลดา (วิชาชีพ) โดยศูนย์ส่งกำลังบำรุงแห่งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักชลประทานที่ ๙ กรมชลประทาน ในการเอื้อเฟื้อสถานที่และบุคคลากรในการจัดการดูแลและบรรจุถุงยังชีพร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อส่งไปสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยของมูลนิธิฯ ทั้ง ๗ ศูนย์ และที่สำคัญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงห่วงใยราษฎรที่ติดค้างอยู่ในบ้านเรือนต่างๆ และทรงมีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเน้นไปที่บ้านเรือนราษฎรที่ถูกตัดขาดและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยได้พระราชทานถุงยังชีพจำนวนประมาณ ๖๐๐ ชุดต่อวัน ข้าวกล่องจำนวนประมาณ ๖,๐๐๐ กล่อง รวมถึงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานไปดำเนินการรักษาผู้ประสบภัยตามบ้านเรือนเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับความร่วมมือจากกรมประมงในการสนับสนุนเรือและบุคคลากร เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กองทัพบก ตำรวจตระเวนชายแดน และพระสงฆ์ ฯลฯ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒-๒๘๒-๔๔๒๕ และผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเงินหรือสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา อาคาร ๖๐๘ พระราชวังดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ โทร ๐๒-๒๘๒๔๔๒๕ หรือโอนเงินผ่านบัญชีมูลนิธิชัยพัฒนา ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสวนจิตรลดา บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๖๗-๒-๐๐๐๑๑-๙ หรือที่ธนาคารทหารไทย สาขาสนามเสือป่า บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๔๖-๒-๔๐๒๗๗-๗
************************************************
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร ๐๒-๒๘๒๔๔๒๕ ต่อ ๑๑๖-๑๑๗