สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ พระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อเปิดการสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ ๕ ณ เมืองลัคเนา สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ ตุลาคม – ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นำคณะนักวิชาการไทย ประมาณ ๖๕ คนเข้าร่วมรับเสด็จ ฯ และร่วมสัมมนาเพื่อนำเสนอผลงาน แสดงนิทรรศการผลงานที่ดำเนินการในไทย ตลอดจนสาธิตและฝึกอบรมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝก การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ ๓๐๐ คน
สัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ ๕ นี้ โดยมีสถาบันสมุนไพรและพืชหอม(Central Institute of Medicinal and Aromatic Plants - CIMAP) เป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ “หญ้าแฝกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” (Vetiver and Climate Change) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สนับสนุนการจัดการประชุม พร้อมทั้งเสด็จ ฯ เปิดการประชุม และพระราชทานรางวัล "The King of Thailand Vetiver Awards ๒๐๑๑" แก่ผู้ชนะเลิศผลงานวิจัยด้านหญ้าแฝกจากประเทศไทย อินเดีย ออสเตรเลีย มาดากัสการ์ เวเนซุเอลา และจีน ภายในงานสัมมนา ฯ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการรณรงค์ปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจากนักวิชาการไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีการสาธิตและฝึกอบรมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝกซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ ประธานเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (Dr. Jim Smyle) ได้กล่าวสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะดินและน้ำอย่างกว้างขวาง จนสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญ อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักวิชาการไทยที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝกโดยให้การสนับสนุนการจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติทุกครั้ง และพระราชทานรางวัล The King of Thailand Vetiver Awards ให้แก่นักวิชาการด้วย
การเข้าร่วมงานสัมมนาหญ้าแฝกนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานหญ้าแฝกตามพระราชดำริในประเทศ อันจะเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นอกจากนี้ นักวิชาการที่เข้าร่วมการสัมมนา ฯ ก็จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำแนวทางปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป