วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555
โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 8.15 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร
ในการนี้ รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้น้อมเกล้าฯถวายแพะพันธุ์เบล็คเบงกอลจำนวน 3 ตัว ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 เป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว และกรมปศุสัตว์ได้นำแพะแบล็คเบงกอลดังกล่าว ไปเลี้ยงดู พักฟื้น กักตรวจโรคเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ
แพะพันธุ์ แบล็กเบงกอล เป็นแพะที่มีขนาดเล็กสูงประมาณ 40-60 ซม. มีขนสั้นดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นเงา ใบหูมีขนาดเล็กตั้งชี้ไปข้างหน้า ขนสั้น ละเอียดนุ่ม โตเต็มวัยจะมีความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 12 กิโลกรัม ลักษณะไม่เหมือนแพะสายพันธุ์อื่นตรงที่ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเคราและเขา
จุดเด่นของแพะสายพันธุ์นี้ คือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมาก ตั้งท้องเพียง 150 วัน เมื่อตกลูกมักจะออกแฝด 2 ถึง 4 ตัว สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ให้ลูกครั้งแรกเมื่ออายุ 15-16 เดือน มีลูกเฉลี่ยครอกละ 2 ตัว ข้อเสียคือให้นมน้อยไม่ค่อยเพียงพอต่อลูกที่คลอดครั้งละมากๆ เฉลี่ยให้นม 0.4 กิโลกรัม/วัน หรือประมาณ 44 กิโลกรัมต่อระยะการให้นม 105 วัน
แพะแบล็กเบงกอล เป็นแพะขนาดเล็ก เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อและหนังเป็นหลัก เนื้อมีคุณภาพดี รสชาติดี หนังมีคุณภาพ ราคาแพง แพะพันธุ์นี้เลี้ยงมากในอินเดียและบังคลาเทศกรมปศุสัตว์ได้ดูแลแพะที่รัฐบาลประเทศบังควาเทศถวายจำนวน 3 ตัวนี้ ต่อเนื่องมาจนกระทั่งการดำเนินงานจัดตั้งโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลเสร็จเรียบร้อย อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงได้น้อมเกล้าฯถวายแพะดังกล่าวในวันนี้ ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 13 ตัว
โครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’
ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
จากนั้น เวลาประมาณ 11.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ พระราชดำเนินยังโรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเป็นหนึ่งในหน่วยราชการ ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในขั้นแรกได้นำนักเรียน จำนวน 30 คน เข้ามาศึกษาดูงาน ตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ การทำแปลงปลูกผัก การดูแลพืชผักต่างๆ และได้ลงมือปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจสามารถนำไปปฏิบัติต่อที่โรงเรียน
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 5 รับผิดชอบแปลงผักตั้งแต่เตรียมแปลงจน กระทั้งเก็บผลผลิต และส่งขายให้กับแม่ค้าโรงอาหารของโรงเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง รวมทั้งวางขายที่โรงพยาบาลแม่จัน และส่งขายให้กับโรงแรมหรือรีสอร์ทที่ต้องการผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ นอกจากนั้นยังมีการเพาะกล้าเพื่อให้นักเรียนนำกลับไปปลูกที่บ้าน และส่วนหนึ่งโรงเรียนยังได้เก็บเมล็ดพันธุ์เองเอาไว้ปลูกต่อในรุ่นต่ออีกด้วย
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านนายบุญมี อารีย์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสันยาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย ทอดพระเนตรการรับซื้อเมล็ดพันธุ์ของโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า ฟัก แฟง ถั่วพู ถั่วแปบ มะระขี้นก และบวบหอม สะสมไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 889 ครัวเรือน จาก 35 หมู่บ้านใน 6 ตำบล และได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อย่างใกล้ชิด
จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรความเจริญเติบโตของต้นไม้ในโครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ที่ปลูกสองข้างทางในหมู่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โครงการนี้ เป็นโครงการที่ชาวบ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งงาม ได้เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ และต่อมาได้ขอทำโครงการขยาย โดยตั้งชื่อว่า ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปประกอบอาหารรับประทานได้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจึงได้จัดหากล้าต้นมะรุม กล้าต้นเสี้ยว กล้าต้นขี้เหล็ก และเมล็ดแค สนับสนุนโครงการดังกล่าว และในปีที่ผ่านมา ยังได้เพิ่มกล้าไม้ผล อันเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
เวลา 14:45 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้งขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ประชาชนทั่วไป และประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานะการที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงทดสอบเมล็ดพันธุ์ที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินงานพัฒนาและผลิตพันธุ์พืชผักเพื่อคัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่ดีและเหมาะสมเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานในนามของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในอนาคต
ประทับรถพ่วงในฟาร์ม ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ ชนิดต่างๆ แปลงผักที่ทรงนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศพระราชทานให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองปลูก และแปลงผักสดปลอดสารพิษที่ใช้ประกอบอาหารในร้านจันกะผัก ภายในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน
เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการฯ
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯถึง ได้พระดำเนินเข้าภายในอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เพื่อทรงรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมารวมถึงแผนการดำเนินงานในปี 2555 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมัน จากนั้นทอดพระเนตรแผนการดำเนินงานส่วนนิทรรศการ การทำงานของเครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์การทดสอบคุณภาพน้ำมัน และทรงปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณกรดในน้ำมันด้วยวิธี Titrate รวมถึงทรงทดลองนำเมล็ดทานตะวันหนูใส่ลงในเครื่องจักร เพื่อดูคุณภาพและผลการทำงานของเครื่องจักร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลิตน้ำมันเมล็ดชาในประเทศไทย รวมถึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน” เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมันอื่นๆ ที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค เพื่อสุขภาพ เช่น มะรุม งา ทานตะวัน ฟักทอง ผักน้ำมันและดอกคำฝอย เป็นต้น ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม เป็นต้น รวมถึงเป็นโรงงานต้นแบบ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและการใช้พลังงาน นอกจากการเป็นโรงงานผลิตน้ำมันคุณภาพสูงแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา และทดสอบพืชน้ำมันต่างๆ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ ทั้งในส่วนของคุณสมบัติและกระบวนการผลิต รวมถึงมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายและเป็นแหล่งท่องเที่ยว
โดยผลการดำเนินงานในปี 2554 ทางศูนย์วิจัยฯ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องหีบน้ำมันจำนวน 3 ขนาด คือเครื่องหีบน้ำมันเพลาเดี่ยว (กำลังผลิต 120 ก.ก./ ชั่วโมง), ชุดเครื่องหีบน้ำมันจากประเทศจีน (กำลังการผลิต 30 ก.ก./ ชั่วโมง) และเครื่องหีบน้ำมันขนาดเล็ก (กำลังผลิต 2 ก.ก./ ชั่วโมง) และได้เริ่มรับเมล็ดชาจากแปลงปลูกชาน้ำมัน บริเวณดอยปูนะและปางมะหัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง เพื่อนำมาผลิตชาน้ำมันบรรจุขวดขนาด 250 มิลลิลิตร เพื่อจำหน่าย รวมถึงได้มีการผลิตน้ำมันเมล็ดทานตะวันขนาด 250 มิลลิลิตร เพื่อจำหน่ายสำหรับการบริโภคเช่นเดียวกัน
จากคุณประโยชน์นานาประการของน้ำมันชาและน้ำมันเมล็ดทานตะวัน องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ให้การรับรองคุณภาพมาตรฐานชาน้ำมัน และมูลนิธิโรคหัวใจได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ในสินค้าน้ำมันเมล็ดชาและน้ำมันเมล็ดทานตะวัน ในนามผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ รวมถึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของเครื่องสำอาง สบู่ ที่ทำจากเมล็ดชา และการใช้กากชาเพื่อฆ่าหอย เชอรี่ในนาข้าวอีกด้วย
ในส่วนของแผนการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ในปี 2555 ทางศูนย์ได้จัดให้มีการทดสอบ ปรับปรุง และเพิ่มเติมเครื่องจักร รวมถึงมีการทดลองสกัดน้ำมันจาก พืชน้ำมันอื่นๆ อาทิเช่น มะรุม เมล็ดไนเจอร์ (Niger Seed) รวมถึงเพิ่มพลังการผลิตน้ำมันจากงาและ เมล็ดชาให้เป็น 10 ตันและ 20 ตันตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบการทำงานของโรงงานเพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP รวมถึงพัฒนาคุณภาพน้ำมันให้ได้มาตรฐาน USP (The United Stated Pharmacopeia) เพื่อการส่งออก และได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆในประเทศและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาวิจัยในเรื่องของเมล็ดชาและน้ำมันชาให้มากยิ่งขึ้น
น้ำมันชามีคุณประโยชน์มากจนได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อัมพาต ความดัน เบาหวานและโรคหัวใจ
โอกาสนี้ทรงเยี่ยมราษฎรจากอำเภอแม่สาย และพื้นที่ใกล้เคียงที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ หลังจากนั้นได้เสด็จไปยังร้านอาหาร “เมล็ดชา” เพื่อทรงปรุงซอสสลัดมะเขือเทศและซอสสเต็กเมล็ดชา ที่ใช้น้ำมันชา ในการปรุง ซึ่งเป็นสูตรพระราชทานเพื่อใช้จำหน่ายในร้านเมล็ดชาต่อไป
วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากพระตำหนักดอยตุงยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมัน โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิ เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา นับเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น เพื่อทำงานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อันเป็นมูลนิธิในพระราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิต และให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้
ชาน้ำมัน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Theaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia oleifera Abel. เป็นไม้พุ่ม สูง 1.5 - 4 เมตร ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีมากทางจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบ ไหล่เขา และริมลำธาร ที่ระดับความสูง 500 – 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล น้ำมันที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง เทียบเท่าหรือดีกว่าน้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆใกล้เคียงกัน น้ำมันชามีสรรพคุณทางการแพทย์ในการป้องกันโรค เบาหวาน ลดความดันในกระแสเลือด ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันในเรื่องไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนี้ ในน้ำมันชามีสารประกอบที่ทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น จึงมีสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ได้อีกด้วย
ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันชามานานกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันพบว่ามีการปลูกอยู่ถึง 105 เขต โดยเฉพาะที่เมืองหูหนานและเมืองกวางสี คนจีนใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร ประมาณการได้ว่าประชากรจีนหนึ่งในเจ็ดครอบครัวใช้น้ำมันชาในการปรุงอาหาร และความต้องการใช้น้ำมันชาในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสูงถึง 485,000-551,000 ตันต่อปี
การดำเนินงานโครงการนี้ เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้มีมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทดลองปลูกชาน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันชาสำหรับบริโภค มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯจึงเริ่มสนองพระราชดำริ โดยได้ติดต่อกับสถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนชาน้ำมัน มาทดลองปลูกในประเทศไทย
เดือนพฤศจิกายน 2547 สถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ส่งเมล็ดพันธุ์ประเภทดอกสีแดง และดอกสีขาวรวม 10 กิโลกรัม และต้นอ่อนชาน้ำมันประเภทดอกสีแดง และสีขาว รวม 61 ต้น เพื่อทดลองปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่อมาในปี 2549 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาปลูกในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ พื้นที่แปลงชาน้ำมันของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บริเวณสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่
นอกเหนือจากพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและมูลนิธิชัยพัฒนาได้เริ่มโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันในพื้นที่บ้านปางมะหัน บ้านปูนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ในตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ทำการปลูกชาน้ำมันไปแล้ว ในพื้นที่ 3,418 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่บ้านปางมะหัน 1,408 ไร่ ดำเนินงานโดยโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเอง และร่วมกับราษฎรในหมู่บ้านปูนะ บ้านแม่หม้อ บ้านจะตี และพื้นที่ข้างเคียงรวม 13 หมู่บ้าน ปลูกชาน้ำมันอีกจำนวน 2,010 ไร่
การศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเน้นการศึกษาในเรื่องของวิธีการปลูก การดูแลรักษา การป้องกันศัตรูและโรคต่างๆของต้นชาน้ำมัน และการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำเมล็ดชาที่ได้ป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำมันชา ในศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯร่วมกันตั้งขึ้นที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ได้ทรงเยี่ยมและพระราชทานของที่ระลึกแก่ทหารที่ประจำการ ณ ฐานทหารจะตี จุดเฝ้าตรวจฐานทหารบ้านแม่หม้อ และ ฐานทหารปางหนุน 2 และทรงฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ชายแดนดัวย
นอกจากนี้ ได้ทรงเยี่ยมราษฎรที่เข้าร่วมปลูกชาน้ำมัน โดยได้เสด็จไปทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านของราษxฎร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงหมูดำเหมยซานที่บ้านนายจะบู แสนใหม่ ในหมู่บ้านพญาคา ซึ่งได้รับหมูมาจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงหมูที่แข็งแรง และมีลูกดก
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมบ้านนายชูชัย แซ่เซอ ทอดพระเนตรการทำการเกษตรในครัวเรือนแบบครบวงจร
นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านของนายอาลึ คาร่า ทอดพระเนตรแพะสีดำที่ได้เลี้ยงไว้ 3 ตัว เนื่องจากแพะดังกล่าวมีลักษณะคล้ายแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลที่รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้น้อมเกล้าฯถวาย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาเลี้ยงแพะดังกล่าวเพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร
เสด็จพระราชดำเนินพื้นที่เพาะขยายพันธุ์ไก่ดำเพื่อทอดพระเนตรการอนุบาลไก่ดำรุ่นต่างๆ ไก่ดำที่เพาะเลี้ยงในศูนย์นี้ จะเป็นไก่ดำที่เตรียมไว้สำหรับพระราชทานราษฎรที่เข้าร่วมกับโครงการฯปลูกชาน้ำมัน เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
ทอดพระเนตรคอกอนุบาลหมูเหมยซาน ที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงในลักษณะเดียวกับไก่ดำ
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ยังได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศและสภาพป่า ที่ในอดีตเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกทำลายเป็นพื้นที่กว้าง ปัจจุบันได้กลับพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาด้วยวิธีการ ‘ปลูกป่าแบบไม่ปลูก’
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมันเพื่อผลิตน้ำมันเพื่อบริโภคแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ขึ้น โดยโครงการฯได้ทำงานร่วมกับชุมชน มีราษฎรจากหมู่บ้านในตำบลเทอดไท 13 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการฯ 402 ครอบครัว มีพื้นที่ดำเนินโครงการ 31,321 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกชาน้ำมัน 2,010 ไร่ ให้ราษฎรปลูกชาน้ำมันครอบครัวละ 5 ไร่ มีพื้นที่ป่าใช้สอย 804 ไร่ ให้ราษฎรดูแลพื้นที่ป่าใช้สอยครอบครัวละ 2 ไร่ แบ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ดูแลในลักษณะปลูกป่าแบบไม่ปลูกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 22,582 ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา โดยได้ทดลองแบ่งให้ราษฎรดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครอบครัวละ 59 ไร่ และได้ทดลองจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรเฉลี่ยครอบครัวละ 9 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีโอกาสทำกิน พร้อมทั้งได้ดูแลรักษาป่าและดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการปลูกชาน้ำมันทุกคน จะได้รับความรู้ในการอยู่ร่วมกับป่า โดยมีหลักสำคัญในการดูแลรักษาป่า คือ ไม่บุกรุกป่า ไม่ถากถางเข้าไปทำกินในบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร ระวังและควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า อันเป็นการน้อมนำพระราชดำริ ‘การปลูกป่าแบบไม่ปลูก’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติให้เกิดผล เพราะตั้งแต่ได้เริ่มโครงการ ราษฎรในแต่ละหมู่บ้านจะมีการตั้งกรรมการหมู่บ้านขึ้นเองเพื่อดูแลและรักษาป่า มีการตั้งเวรยามเพื่อระวังไฟป่า มีกฎกติกาในหมู่บ้านและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
จากความร่วมใจของราษฎรในหมู่บ้านเหล่านี้ ไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นทุกปี ได้ห่างหายมาเป็นเวลากว่าสี่ปี จากภูเขาที่ไหม้เกรียมเหลือแต่ผืนดินสีน้ำตาล บัดนี้ปกคลุมด้วยไม้ป่าและลูกไม้ที่ทะยอยขึ้นคลุมพื้นที่นำความชุ่มชื้นกลับคืนมาสู่แผ่นดิน นับว่าเป็นการบริหารจัดการชุมชนที่เข้มแข็งโดยชุมชนอย่างแท้จริง
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร. ๐๒ – ๒๘๒ – ๔๔๒๕ ต่อ ๑๑๖ – ๑๑๗