สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงติดตามการดำเนินงานโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติและโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะกา จังหวัดนครนายก
วันที่ 3 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อทรงเปิดป้ายโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ และทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พื้นที่ดำเนินโครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาตินี้ เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อที่ดินบริเวณบ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จำนวน 14-2-18 ไร่ และสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นสถานที่แสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานและเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ สามารถดำเนินโครงการฯ ได้ และได้พระราชทานชื่อโครงการว่า ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
การดำเนินงานของศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ได้มีการจัดแบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วน เพื่อจัดนิทรรศการแสดงแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ คือ
การจัดนิทรรศการภายในอาคาร เป็นการสรุปภาพรวมพระราชกรณียกิจ อันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งหมด
การจัดนิทรรศการบริเวณใกล้เคียงกับอาคาร เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเห็นและเข้าใจถึงสิ่งแสดงต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อาทิ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียแบบฝังใต้ผิวดิน แปลงหญ้าแฝก เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานและประสิทธิภาพของรากหญ้าแฝกในการยึดดิน
การจัดนิทรรศการกลางแจ้ง ประกอบด้วย การจำลองป่าและภูมิประเทศของประเทศไทยทั้ง 4 ภาค โดยสอดแทรกปัญหาและแนวทางการจัดการเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ ลำธาร และป่าต้นน้ำ รวมถึงการจัดแสดงทฤษฎีใหม่และชีวิตที่พอเพียงกับวิถีชีวิตของคนไทย
โครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 และได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ในปี 2550 มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ประมาณ 46,000 คน
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ประสานกับสภากาชาดไทย ในการจัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมขึ้นในที่ดินของสภากาชาดไทย ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการฯ โดยยึดหลักความสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและสภาพพื้นที่โครงการ เป็นอาคารประหยัดพลังงาน เน้นการประหยัดและพอเพียง ประกอบด้วย อาคารฝึกอบรม อาคารที่พักค้างคืนสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม บ้านเรือนไทยร่วมสมัย แปลงสาธิตและฝึกอบรมด้านการเกษตร โรงอาหารและอาคารอเนกประสงค์ พร้อมทั้งถนน ระบบไฟฟ้าและประปา คาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2553
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์และผลิตปลานิลพันธุ์จิตรลดาพันธุ์แท้
พื้นที่ดำเนินโครงการแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพื้นที่ทำนา ซึ่งทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง และเนื่องจากสภาพดินส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดนครนายกเป็นดินเปรี้ยว จึงได้ผลผลิตเพียง 20-30 ถัง/ไร่ เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนาแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดทำเป็นสถานเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดขนาดกลางของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นเเหล่งรวบรวมพันธุ์และผลิตปลานิลพันธุ์จิตรลดาพันธุ์แท้ เป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้แก่จังหวัดนครนายก และเป็นตัวอย่างอันดีในการแก้ปัญหาการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดินเปรี้ยวมาใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทดแทน
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ทดลองเลี้ยงปลาในบ่อดิน โดยจัดทำเป็นบ่อปลาพ่อ-แม่พันธุ์ บ่อเพาะเลี้ยงจำนวน และบ่อทดสอบการเจริญเติบโตและอายุขัยของปลานิล บ่ออนุบาลภายในโรงเรือน และจัดทำระบบเพาะฟักปลานิลจิตรลดา
การเพาะเลี้ยงปลาในบ่อดิน เนื่องจากสภาพดินเป็นดินเปรี้ยว จึงต้องปรับสภาพน้ำในบ่อดินก่อน โดยการใส่ปูนมาร์ลในอัตรา 150 กิโลกรัม/ไร่ และปูนขาว 100 กิโลกรัม/ไร่ จึงสามารถปล่อยปลาได้ ซึ่งโครงการฯ ได้ทดลองปล่อยปลานิล ประมาณ 3,000-5,000 ตัว/ไร่ ปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี
สำหรับบ่อเพาะฟักปลา ซึ่งเป็นบ่อปูน ประกอบด้วย บ่อปูนสำหรับใส่กระชังปลาพ่อแม่พันธุ์เพื่อเคาะปากปลา บ่อสำหรับพ่อแม่พันธุ์ และเป็นบ่อสำหรับลูกปลาแต่ละขนาด คือ อายุ 21 วัน 30 วัน 45 วัน และ 120 วัน
โครงการฯ สามารถผลิตลูกปลาได้เดือนละ 150,000 ตัว และได้จำหน่ายลูกปลา อายุ 28-30 วัน แก่เกษตรกรที่ให้ความสนใจในการเพาะเลี้ยงไปแล้ว จำนวนกว่า 40 ราย ในราคาตัวละ 30 สตางค์
สำหรับโรงงานผลิตอาหารปลาเม็ดสำเร็จรูป ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการผลิตปลานิลสายพันธุ์ดี เพราะอาหารปลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพ รวมทั้งต้นทุนในการผลิต ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารปลาเม็ดสำเร็จรูปแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ในระยะแรกนี้ โครงการฯ ได้ซื้อวัตถุดิบจากโรงงานมาทดลองผลิตอาหารเม็ดสำเร็จรูป ได้แก่ กากถั่วเหลือง ปลาป่น ปลายข้าว รำละเอียด น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น จากการทดสอบการผลิตอาหารปลาสำเร็จรูปสำหรับปลา 3 ประเภท พบว่า อาหารปลาสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ ควรประกอบด้วย โปรตีน 28% สำหรับปลาเนื้อ โปรตีน 32% สำหรับลูกปลาวัยอ่อน และโปรตีน 35% สำหรับพ่อแม่พันธุ์ปลา เมื่อการทดสอบอาหารปลาเม็ดสำเร็จรูปได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โครงการฯ จะขายอาหารปลาเม็ดสำเร็จรูปให้เกษตรกรในราคาถูก เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลานิลพันธุ์จิตรลดาพันธุ์แท้ เป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิตและทำให้ปลามีคุณภาพดี