สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลสุขฤทัย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลสุขฤทัย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินในลักษณะจัดทำเป็นแปลงสาธิตการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงได้ศึกษา
จากนั้น ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการของโครงการฯ โดยมีเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายสรุปความเป็นมาและการดำเนินงานของโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ และทรงปลูกต้นสุพรรณิการ์ (ฝ้ายคำ) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี บริเวณหน้าพื้นที่โครงการฯ
|
|
|
|
|
ต่อมา พระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบ้านพักของนายบุญสม โพธิ์ทอง เกษตรกรในโครงการฯ ที่ได้รับการคัดเลือกจากอำเภอ เสด็จฯ ไปยังพื้นที่เกษตรผสมผสานของโครงการฯ เพื่อทอดพระเนตรภายในพื้นที่และแปลงไม้ผล พืชไร่ ทรงปล่อยปลาและให้อาหารปลา ทอดพระเนตรแปลงนาของโครงการ เสด็จฯ ไปยังคอกหมูพันธุ์และคอกกระบือ เสด็จฯ ไปยังแปลงพืชผักสวนครัวและสวนสมุนไพร ทอดพระเนตรการเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ และทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานในพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน จากนั้น เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร
|
|
โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลสุขฤทัย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุมัติ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการพัฒนาที่ดิน จำนวน 2 แปลง ที่นางประยงค์ หวังอารีย์ และนางพยูร บุญอาจ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย รวมเนื้อที่ 10 0 87.5 ไร่ เพื่อจัดทำโครงการแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรบริเวณใกล้เคียง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ในรูปแบบของการสาธิตการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยให้เกษตรกร 1ครอบครัว เข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่อย่างเต็มตัว โดยในระยะเริ่มต้น สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะสนับสนุนงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และจ้างให้เกษตรกรดูแลพื้นที่ให้ในช่วงที่ยังไม่มีผลผลิตการเกษตร แต่ในระยะต่อไปจะให้เกษตรกรดำเนินงานและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวเต็มที่ โดยยึดแนวทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ คือการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนแรก พื้นที่ร้อยละ 30 (1.9 ไร่) เป็นแปลงสวนผลไม้ โดยปลูกพืชหลัก จำพวกไม้ผล อาทิ ขนุน มะยงชิด มะปรางฯลฯ พืชรอง อาทิ กล้วยน้ำว้า ผักเม็ก และพืชเสริม อาทิ ข้าวโพดข้าวเหนียว ฟักทองและถั่วเหลือง
ส่วนที่สอง พื้นที่ร้อยละ 30 (1.5 ไร่) เป็นสระน้ำ โดยมีการปล่อยปลาในบ่อ ประกอบด้วย ปลานิลจิตรลดา ปลาหมอตาล ปลาสวาย เป็นต้น และปลูกพืชรอบๆ ขอบบ่อ อาทิ มะพร้าวน้ำหอม มะกอกบ้าน มะละกอ ฯลฯ
ส่วนที่สาม พื้นที่ร้อยละ 30 (4.25 ไร่) เป็นส่วนนาข้าว โดยนำพันธุ์ชัยนาท 1 ไปปลูกเพื่อการบริโภคและเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในอนาคต
ส่วนพื้นที่ส่วนสุดท้าย คือ ร้อยละ 10 (1.7 ไร่) ใช้ เป็นส่วนที่พักอาศัยและโรงเรือน คือบ้านพักเกษตรกร สวนพืชผัก สมุนไพร การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก กบนา คอกสุกร คอกไก่ คอกกระบือและการเตรียมปุ๋ยหมัก
ทั้งนี้จะอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตต่างๆ ในครัวเรือนเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ใช้สอยในครอบครัวได้ โดยเกษตรกรครอบครัวดังกล่าวจะต้องบันทึกข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อไป โครงการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเกษตรกร 1 ครอบครัว สามารถทำการเกษตรและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ขนาดเล็กได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนและมีความสุขอย่างพอเพียง