สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 30 ธันวาคม 2551
ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดชัยนาท
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตจังหวัดชัยนาท ประกอบด้วย โครงการศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านหนองยาง ตำบลสุขเดือนห้า อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท และโครงการพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับการทำนา บ้านเด่นใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
โครงการศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านหนองยาง ตำบลสุขเดือนห้า อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท
พื้นที่แห่งนี้ แต่เดิมเป็นที่ดินของนายศุภชัย ผดุงเจริญ และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา มีพื้นที่ทั้งสิ้น 41 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งบริเวณพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม และเกษตรกรนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หน้าดินตื้น เก็บความชื้นได้น้อยและระบายน้ำไม่ดี นอกจากนี้ ยังมีชั้นดินดาน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้หลักแนวคิดทฤษฎีใหม่ มีการศึกษาทดลองด้านไม้ผล พืชผัก ข้าว เพื่อแนะนำวิธีการปลูกและเทคนิคต่างๆ แก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมและขยายผลพันธุ์พืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกในการปลูกพืชเกษตรอื่นๆ
การดำเนินงานในโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร ในบริเวณพื้นที่โครงการ ได้สาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ดี การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต และการผลิตข้าวเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ข้าวที่ปลูก คือ ข้าวพันธุ์พิษณุโลก 3 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่ พร้อมทั้งได้สาธิตวิธีการปรับปรุงบำรุงดินก่อนและหลังการปลูกข้าว โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองในโครงการ รวมทั้งการใช้หญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงดิน เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน และป้องกันการพังทลายของดินในบริเวณแปลงปลูกพืชไร่ พืชสวน และบริเวณรอบสระน้ำ ซึ่งในสระน้ำนี้ได้เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห และปลาม้า
จัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชไร่พันธุ์ดีและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต คือ ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,080 กก./ไร่ และอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 80 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 7.6 ตัน/ไร่
จัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ โดยใช้หลักวิชาการและดัดแปลงจากวิธีการของเกษตรกรดำเนินการควบคู่กัน เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ พืชผักที่ปลูก ประกอบด้วย พืชผักกินใบอายุสั้น ได้แก่ ผักบุ้ง คะน้า และกวางตุ้ง พืชผักกินผล ได้แก่ ถั่วฝักยาว แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือเปราะ และมะเขือยาว พืชผักพื้นบ้าน ได้แก่ ผักหวานป่า และชะอม
จัดทำแปลงไม้ผล เพื่อสาธิตชนิดของไม้ผลที่เหมาะสม โดยรวบรวมไม้ผลพันธุ์ดีสำหรับเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรื่องพันธุ์ วิธีการปลูก และการขยายพันธุ์พืชต่างๆ ได้แก่ ส้มโอ มะขามหวาน มะม่วง ฝรั่ง และชมพู่ นอกจากนี้ ได้จัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพรและไม้หอม พร้อมทั้งศึกษาถึงการใช้ประโยชน์
จัดทำแปลงสาธิตการผลิตพืชอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้ากินนีสีม่วงและหญ้ารูซี่ ซึ่งมีการเจริญเติบโตดี และได้นำมาเป็นอาหารสำหรับโคพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแปลงเพาะชำและขยายพันธุ์กล้าไม้ประเภทต่างๆ ทั้งไม้พันธุ์ดีและไม้หายาก เช่น ไม้ผล ไม้หอม ไม้มงคล ไม้ประดับ ไม้ป่า เพื่อนำมาใช้ในโครงการฯ รวมทั้งแจกจ่ายแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของโครงการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเข้ามาขอรับบริการน้ำสกัดชีวภาพและขอรับบริการสีข้าว นอกจากนี้ โครงการได้จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน 4 หลักสูตรตามความสนใจและความต้องการของเกษตรกร คือ หลักสูตรการจัดการด้านปศุสัตว์ หลักสูตรการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องยนต์การเกษตร หลักสูตรการเพาะเห็ดหูหนูในขอนไม้ และหลักสูตรการผลิตน้ำปุ๋ยชีวภาพ
โครงการฯ ได้แนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปลูกพืชต่างๆ ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง มีผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจ คือ ในสภาพนาดอน เกษตรกรกรปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 615 กก./ไร่ ในสภาพนาลุ่ม เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 3 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 414 - 712 กก./ไร่ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกอ้อยพันธุ์ดี ได้ผลผลิตสูงถึง 15 ตัน/ไร่ ส่วนการปลูกถั่วฝักยาวและแตงกวาในครัวเรือน สามารถทำให้เกิดรายได้จากพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี
การที่เกษตรกรนำความรู้ที่ได้จากโครงการ ทั้งด้านพันธุ์พืช ด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต ระบบปลูกพืช การปรับปรุงดิน รวมถึงการทำการเกษตรผสมผสานไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้คุณภาพของดินดีขึ้น ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตขายได้ในราคาที่สูงขึ้น จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โครงการพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับการทำนา บ้านเด่นใหญ่ อันเนื่องมา จากพระราชดำริ ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
พื้นที่โครงการนี้ มีเนื้อที่จำนวน 30 ไร่ 72 ตารางวา เป็นที่ดินของนางพรรณี ธรรมวิจิตรเดช และได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาพัฒนาเป็นแปลงสาธิตการปรับปรุงดินสำหรับทำนาให้ได้ผลผลิตสูง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง
พื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ มีธาตุอาหารหลักที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่ำ นอกจากนี้ มีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นน้ำตะกรันแขวนลอยไม่เหมาะต่อการเลี้ยงปลา
การดำเนินงานโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าวในการนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรมาปรับใช้ในโครงการโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อม
การแก้ปัญหาดิน ใช้วิธีการปรับปรุงโครงสร้างดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของดินให้สูงขึ้น โดยการใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น คือ ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก ซึ่งทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เกษตรกรในการแก้ปัญหาดินในลักษณะเดียวกัน แปลงนาสาธิต ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตข้าวที่นิยมปลูกในท้องถิ่น คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิและพันธุ์ขาวเจ๊ก ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และอยู่ในระหว่างติดตามผลการทดสอบ นอกจากนี้ มีการศึกษาและสาธิตการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับการทำนาและการปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง โสนแอฟริกัน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น ซึ่งในขณะนี้สภาพดินดีขึ้น สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น สำหรับการสนับสนุนการเพาะเห็ดนั้น ได้ส่งเสริมให้นักเรียนและราษฎรเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนและชุมชน เห็ดที่เพาะ ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดภูฐาน เห็ดเป๋าจื๊อ และเห็ดยานางิ โดยเน้นการนำฟางข้าวที่เหลือจากการทำนามาทำก้อนเพาะเห็ด นอกจากจะเป็นการนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังทำให้เห็ดมีรสชาติอร่อยอีกด้วย ส่วนวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดแล้วได้นำกลับมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงบำรุงดินต่อไป ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเขี่ยและเพาะเชื้อเห็ด จากนั้น เสด็จฯ ไปยังกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ด หมู่ 6 บ้านหนองอ้ายกาง ที่เข้ารับการอบรมจากโครงการฯ และทอดพระเนตรกิจกรรมการเพาะเห็ดและทรงเก็บเห็ด พร้อมทั้งพระราชทานหม้อนึ่งเห็ดให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดได้ใช้ประโยชน์ต่อไป สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
การแก้ปัญหาน้ำตะกรันแขวนลอย ได้ทดลองใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งอยู่ในระหว่างติดตามผลการทดลอง
มีการทดสอบการปลูกพืชพลังงานทดแทนและพืชแซม พืชพลังงานทดแทน คือ ปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ ส่วนพืชแซม ได้แก่ กล้วยและอ้อย
โครงการฯ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านต่างๆ แก่เกษตรกร ได้แก่ หลักสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ หลักสูตรการทำนาน้ำฝน หลักสูตรการเพาะเห็ด