วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม 2558
เวลาประมาณ 13.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงสาธิตการเกษตร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อทรงปลูกพืชใช้น้ำน้อย และทรงรับฟังรายงานการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับฟังรายงานการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมการข้าว
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการการปลูกข้าวด้วยวิธีประหยัดน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งกรมการข้าวได้ทำการวิจัยเพื่อการปลูกข้าวในช่วงที่มีน้ำน้อยหรือเกิด ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยปกติข้าวเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ใช้น้ำประมาณ 1,200 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ และเกษตรกรมักจะปล่อยให้มีน้ำขังในนาตลอดฤดูปลูก ซึ่งในภาวะขาดแคลนน้ำ จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ และเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย อีกทั้งยังสามารถทำการปลูกข้าวได้ กรมการข้าวจึงได้ทำวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และได้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อให้ผลิตข้าวได้แม้น้ำชลประทานมีจำกัด และสามารถนำมาใช้กับการเพาะปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง โดยพบว่าสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 20 – 50
ในการนี้ ทรงปลูกข้าวด้วยวิธีประหยัดน้ำแบบเปียกสลับแห้ง และทรงเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวในกระบะเพาะ เพื่อเป็นกล้าพันธุ์ข้าวสำหรับการเพาะปลูก จากนั้น เสด็จฯ ยังแปลงสาธิตการเกษตรที่ 5 โดยทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ต่อด้วยทรงเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชบนคันนาระหว่างแปลงสาธิตการเกษตรที่ 3 และ 5 โดยหลังจากเก็บเกี่ยวถั่วเขียวทรงปลูกในช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2558 แล้ว โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จะได้ดำเนินการปลูกข้าวด้วยวิธีประหยัดน้ำแบบเปียกสลับแห้งในพื้นที่
ถั่วเขียว ถือเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ทนทานต่อความแห้งแล้ง อีกทั้งทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 65 – 70 วัน ดูแลง่าย ต้นทุนต่ำ แต่ผลผลิตขายได้ราคาสูง เป็นพืชสำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีและปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงนับเป็นพืชที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเกิดปัญหา ภาวะภัยแล้ง