วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2558
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ในการนี้ ได้ทอดพระเนตรไซโลเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน และขบวนการบรรจุพันธุ์ข้าวพระราชทาน และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จฯ เนื่องด้วยทรงตระหนักว่าการผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมานะอดทน ต้องมีความละเอียดประณีตในการผลิตทุกขั้นตอน นับแต่การเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การปลูกด้วยการปักดำ การดูแลเอาใจใส่ในการกำจัดวัชพืชและข้าวปน รวมทั้งการใส่ใจในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อให้ข้าวคุณภาพดีที่ตั้งใจผลิตถวาย สะอาดจนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบมายังมูลนิธิชัยพัฒนา
และนอกจากทรงส่งเสริมให้ราษฎรปลูกข้าวที่มีคุณภาพเพื่อร่วมสนองพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติตกทุกข์ได้ยากแล้ว ทรงทราบว่าในเขตจังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรจะสามารถทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อเข้าฤดูแล้งปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอกับความต้องการต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน จนเกิดความเสียหายกับนาข้าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีรับสั่งให้กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. ให้การช่วยเหลือราษฎรเป็นการเร่งด่วน
ทั้งนี้ยังได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย และพระราชทานพันธุ์ไก่กระดูกดำจากโครงการที่มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึงได้จัดอบรมเรื่องการนำหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวมาทำอาหารไก่ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลจิตรลดาจากโครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการด้วย
โครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวจึงเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ราษฎรจะมีข้าว มีโรงสีข้าวขนาดเล็ก ปลูกผัก มีปลาและสามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ ดังนั้นในช่วงเวลาปกติ ราษฎรผู้เข้าร่วมโครงการฯ จึงสามารถผลิตพันธุ์ปลานิลจิตรลดา เพื่อเป็นพันธุ์ปลาพระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่อื่นๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ได้เสด็จฯ ไปยังบ้านของ นางปัด วิรัตน์ เกษตรกรที่ร่วมในโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ที่บ้านประสบปัญหาวาตภัย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา เมื่อทรงทราบว่า มีบ้านราษฎรในหมู่บ้านโคกไทรและหมู่บ้านโคกไทรงาม ในพื้นที่โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ประสบวาตภัยเสียหาย จำนวน 100 ราย จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าวัสดุในการซ่อมแซมบ้าน และมีบ้านของนางปัด วิรัตน์ พังเสียหายทั้งหลัง จึงพระราชทานบ้านหลังใหม่ทดแทนบ้านที่พังลง