วันที่ 14 กันยายน 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 2 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ ทรงปลูกต้นฝาง บริเวณด้านหน้าร้านจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของโครงการและทอดพระเนตรภายในร้านซึ่งได้รับพระราชทานชื่อพร้อมตราสัญลักษณ์ว่า “ทรัพย์-ปัน” อันมาจากชื่อเรียกต้นฝางในภาษาอังกฤษ (Sappan)
จากนั้น ทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ จากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในการนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทูลเกล้าฯ ถวายใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ประเภทแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งได้ปรับจากโครงสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรระหว่างประเทศและเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
จากนั้น ทอดพระเนตรผลการใช้ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการโครงการของมูลนิธิ ชัยพัฒนาหรือ GMIS ซึ่งเป็นระบบ Application แบบแผนที่ออนไลน์ (Web Map Service) ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และติดตามผลการดำเนินงานโครงการ พร้อมทั้งทอดพระเนตรภาพถ่ายทางอากาศแบบสองมิติและสามมิติของโครงการฯ ซึ่งถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับหรือ Drone และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนที่ขอบเขตโครงการและการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับใช้ในการบริหารจัดการโครงการต่อไป
จากนั้น ทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้คำปรึกษาในการออกแบบและก่อสร้างอาคารแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการแปรรูปให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวความคิด Job shop อันเป็นการใช้พื้นที่ผลิตร่วมกัน รวมถึงจัดทำระบบมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ในการผลิตที่ดีสำหรับอาหาร (CODEX GMP) และสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในการแปรรูป โดยแนวทางความร่วมมือในอนาคตจะดำเนินการขอรับรองมาตรฐานระดับชาติและระดับสากลให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งหมดของโครงการต่อไป
ต่อมา ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของโครงการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทต่างๆ ภายใต้แนวความคิดเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ปลอดภัยได้มาตรฐาน ผลิตจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ไม่ใส่สารปรุงแต่งหรือวัตถุกันเสีย โดยโครงการจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปของโครงการภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ทรัพย์-ปัน” ในการนี้ ทรงปรุง “กัมมี่และเห็ดหูหนูกรอบสมุนไพรสูตรพระราชทาน” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของโครงการที่กำลังจะนำออกวางจำหน่ายในอนาคต
จากนั้น ทอดพระเนตรผลการดำเนินงาน โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 2 ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินงานโดยใช้งบประมาณ ที่กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในรูปแบบของการสนับสนุนสิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล บุคลากร พันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เริ่มดำเนินงานโครงการด้านพืช ระยะที่ 2 ภายใต้การดูแลของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยสามารถแบ่งการดำเนินงานโครงการ ออกเป็น 5กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมเห็ด กิจกรรมข้าว กิจกรรมพืชผักกิจกรรมมันฝรั่ง และกิจกรรมสตรอเบอรี่
ในการนี้ ทรงพระอักษรจีนคำว่า 科技促民富 ( เคอ จี้ ชู่ หมิน ฟู่) ซึ่งมีความหมายว่า "วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนำพาความมั่งคั่งมาสู่ปวงชน" พระราชทานแก่โครงการฯ เพื่อเป็นสิริมงคลสืบไป