วันเสาร์ ที่ 14 มีนาคม 2552
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนินมายังอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อพระราชทานพระราโชบายแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ในการสัมมนาทั่วประเทศ ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 11- 15 มีนาคม 2552
การ สัมมนาเจ้าหน้าที่โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลางกว่า 200 คน ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน รวมถึงติดตามผลงานความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่จากโครงการต่างๆจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำเสนอผลการ ดำเนินงานรวมถึงแผนงานในอนาคต ให้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบ และระดมความคิดเพื่อนำไปปรับใช้เป็นแผนงานในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ต่อไป
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานพระราโชบายในการดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดความเป็นเอกภาพและบรรลุผลการดำเนิน งานต่อไป
ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินงานพัฒนาในด้านต่างๆ มากว่า 20 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง มูลนิธิชัยพัฒนา ขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 และ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อให้มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนา ต่างๆ ในกรณีที่ถูก จำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินงานได้ทันที ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
สำนักงาน มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยมีโครงการพัฒนาในความรับผิดชอบประมาณ 180 โครงการ โดยโครงการต่างๆ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาด้านการเกษตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการ ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการด้านสังคมและการศึกษา และโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศ
การพัฒนาแหล่งน้ำ
โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยกังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศ RX-5C พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรในการบำบัดน้ำเสียโดยใช้วิธีการเรียบง่าย สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ติดต่อขอนำกังหันน้ำชัยพัฒนาและเครื่องกลเติมอากาศ RX-5C ไปใช้อย่างแพร่หลาย
โครงการแก้มลิง ประกอบด้วย โครงการแก้มลิงทะเลสาบบ้านหมอ ตำบลสร่างโศก อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิ ชัยพัฒนา ดำเนินการจัดทำแผนบริหารการจัดการน้ำในพื้นที่โครงการแก้มลิงบริเวณทะเลสาบบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โดยในปี 2551 ได้ดำเนินการร่วมกับกรมชลประทาน ในการจัดสร้างท่อรับน้ำเพื่อระบายน้ำจากคลองชัยนาท ป่าสัก จัดสร้างท่อรับน้ำเข้าทะเลสาบบ้านหมอ ขุดคลองชักน้ำเชื่อมระหว่างคลองชัยนาท ป่าสัก และ ทะเลสาบบ้านหมอ และปรับปรุงท่อรับน้ำ ปัจจุบัน กรมชลประมานได้จัดทำแผนการทดสอบระบบการพร่องน้ำโครงการแก้มลิงทะเลสาบบ้าน หมอ โดยใช้เครื่องสูบน้ำจากระดับน้ำปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 กันยายน 2551) 1 เมตร เป็นผลให้สามารถพร่องน้ำในทะเลสาบบ้านหมอได้ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 อำเภอคลองหลวง และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
ซึ่ง เป็นโครงการที่ดำเนินการตามพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำเป็น แหล่งเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทา ความเดือดร้อนในฤดูแล้ง โดยส่งน้ำไปช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โดยรอบในการทำการเกษตร ในปัจจุบันสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานงานให้กรมชลประทานดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บในฤดูกาลต่อไป
ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโคลนถล่ม พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
ซึ่ง ได้ดำเนินการตามพระราชกระแส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโคลนถล่ม ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดย การก่อสร้างบ้านพักถาวรของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าปลา และอำเภอลับแล จำนวนทั้งสิ้น 249 หลังคาเรือน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพ และ ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น
ด้านการพัฒนาการเกษตร
โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ศูนย์บริการวิชาการเกษตร ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้ดำเนินการสาธิตการผลิตข้าวพันธุ์ดี การผลิตเมล็ดพันธุ์ รวม ทั้งการนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามาทดสอบและปรับใช้ในพื้นที่ โครงการ เพื่อให้เป็นต้นแบบวิชาการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย กิจกรรมข้าว กิจกรรมไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เกษตรยังชีพ ประมง การ แปรรูปและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป โดยสามารถสร้างรายได้จากการขายผลผลิต และสินค้าแปรรูปจากผลผลิตที่ได้จากโครงการฯ
โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้วสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดทำให้เป็นศูนย์ อนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย (โรงเรียนกาสรกสิวิทย์) ควบคู่กับการพัฒนาทางด้านเกษตร โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการ คือ การฝึกกระบือเพื่อใช้งานโดยสอนเกษตรกรให้สามารถใช้กระบือเพื่อการเกษตรได้ การศึกษาทดลองวิจัยประโยชน์ที่ได้รับจากมูลกระบือ เครื่องมือการเกษตรที่ใช้แรงงานกระบือ และพัฒนาสายพันธุ์กระบือ เป็นต้น
โครงการให้ความช่วยเหลือราษฎรตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
ซึ่ง เป็นโครงการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานลานตากข้าว 10 แห่ง โรงสีข้าวชุมชน ยุ้งฉางชุมชน และยุ้งฉางเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ดีสำหรับข้าวชุมชน รวมทั้งได้จัดทำแปลงเรียนรู้ข้าวปลอดภัยจากสารพิษ จัดทำโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ผลิตและส่งเสริมการปลูกฟักทองเพื่อส่งเสริมการปลูกเป็นพืชหลังนา ให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมความรู้ทักษะรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ให้แก่กลุ่มแม่บ้านเพื่อเป็นอาชีพเสริม เช่น ทอเสื่อกก ผ้ามัดหมี่ จักสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลาในพื้นที่การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ และเร่งรัดการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของราษฎรในพื้นที่
โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเหมือดแอ่ ตำบลหนองตูม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
มี วัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเป็นโครงการในรูปแบบของศูนย์บริการ ด้านเกษตรกรรม โดยใช้หลักการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎรโดยทั่วไป โครงการดังกล่าวจะดำเนินการพัฒนาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการของมูลนิธิชัยพัฒนา สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการต่าง ๆ ภายในพื้นที่ต่อไป
ด้านสังคม
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เป็น โครงการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมรวมทั้ง วิถีชีวิตชุมชนอัมพวา โดยในเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน 2551 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดงานเทศกาลอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมพื้นบ้าน และ วิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวอัมพวา ผ่านการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการ และกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมต่างๆ โดยการจัดพื้นที่และกิจกรรมภายในโครงการจะคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิต ของชุมชนอัมพวา และการมีส่วนร่วมของชุมชน กิจกรรมที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ สวนสาธิตการเกษตรเพื่อการเรียนรู้ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ร้านค้าชุมชน ห้องนิทรรศการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์และร้านชานชาลา
การให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา
โครงการปรับปรุงและซ่อมแซมโรงเรียนบนพื้นที่เกาะ จังหวัดสตูล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิ ชัย พัฒนาดำเนินการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และได้รับผลกระทบจากสึนามิ ในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมโรงเรียน มัสยิดและสถานีอนามัย บนพื้นที่เกาะในเขตพื้นที่จังหวัดสตูล ได้แก่ เกาะสาหร่าย เกาะตันหยงอุมา เกาะยาว เกาะปูยู ทั้งนี้ ได้ร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสตูล จัดทำหลักสูตรการศึกษา โดยเน้นด้านการพัฒนาอาชีพท้องถิ่นให้แก่โรงเรียนในระดับประถมศึกษาและ มัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาส โดยบริษัท ซิสโก้ จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์แก่นักเรียน ครูและราษฎรที่สนใจ
โรงเรียน อุดมศาสน์วิทยา ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และโรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างอาคารเรียนต่างๆ พร้อม ทั้งจัดหาน้ำพร้อมระบบระบายน้ำ สำหรับการช่วยเหลือทางด้านการศึกษา ได้ร่วมกับสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษาจังหวัดยะลา และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการหลักสูตรสายสามัญพร้อมกับ เสริมวิชาชีพในหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนค่าจ้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการหลักสูตรดังกล่าวในปีการศึกษา 2551 โดยคาดหวังว่าเมื่อนักเรียนจบการศึกษาแล้วสามารถที่จะนำไปใช้ในการประกอบ อาชีพได้ อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามแนวพระราชดำริต่อไป
โครงการระหว่างประเทศ
โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับมหาวิทยาลัยจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
มหาวิทยาลัย จำปาสัก ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขอพระราชทานโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัย พัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านวิชาการเกษตรสำหรับประชาชนลาว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินโครงการจัดทำแปลงสาธิต เกษตรผสมผสานเพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก ทั้งนี้ได้มีการจัดฝึกอบรมคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจำปาสัก โดยนำคณะฯ เข้ามาฝึกอบรมด้านวิชาการเกษตรแขนงต่างๆ ในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 8 - 22 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา
โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับสาธารณรัฐประชาชนจีน
สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาแนวทางดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ในการนี้ ได้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาทดลองของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนมีแผนการจัดสร้างอาคารพักอาศัยของเจ้าหน้าที่ อาคารเก็บวัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ จัดสร้างถังเก็บน้ำ ถนน สายรองภายในพื้นที่ทำงาน รวมทั้งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้ด้านมันฝรั่ง กระเทียม ข้าว ชาดื่ม ลูกพลับ และ เห็ด โดยมีสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นฝ่ายประสานการดำเนินงาน
...............................................................
สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา