เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 เวลา 09.39 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร มูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทรงนำคณะทูตานุทูตพร้อมคู่สมรสจาก 30 ประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐโปรตุเกส ราชอาณาจักรภูฏาน และสหรัฐเม็กซิโก เยี่ยมชมโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเผยแพร่แนวคิดและทฤษฎีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา อันก่อเกิดเป็นโครงการพระราชดำริที่มุ่งเน้นความประหยัด เรียบง่าย แต่ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ราษฎรเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในที่สุด
ในการนี้ ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมกับทรงบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้กับคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ และทอดพระเนตรนิทรรศการและผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการหีบน้ำมันปาล์ม และการผลิตไบโอดีเซล อาทิ สบู่ก้อน สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน จากน้ำมันปาล์มดิบและกลีเซอรีน อาหารปลาและปุ๋ยหมักจากกากปาล์ม รวมถึงการหีบน้ำมันหอมระเหย โดยใช้เครื่องหีบขนาดเล็ก และการดำเนินงานด้านการเกษตรผสมผสานในแปลงปาล์ม เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การเลี้ยงปลาสวาย หมูป่า แพะ และการปลูกพืชสมุนไพรแซมในแปลงปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา โปร่งฟ้า เป็นต้น สำหรับโครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจรแห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตระหนักถึงปัญหาเรื่องพลังงาน ตั้งแต่ปี 2518 โดยเฉพาะการนำปาล์มน้ำมันมาแปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต ตลอดจนเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาให้เป็นต้นแบบชุมชน นำไปปรับใช้ให้เกิดการพึ่งพาตนเองในเรื่องของพลังงานทดแทน ปัจจุบันสามารถผลิตไบโอดีเซล จากวัตถุดิบสองชนิด คือ น้ำมันพืชใช้แล้วและน้ำมันปาล์มดิบ ที่สกัดได้จากผลปาล์มทะลาย ซึ่งปลูกในพื้นที่โครงการ 250 ไร่ มีกำลังการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 400 ลิตรต่อวัน ผลผลิตที่ได้นำมาใช้ภายในโครงการฯ และโครงการอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา
เวลา 13.03 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ ทรงฟังบรรยายสรุปภาพรวมโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2530 ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านการเกษตรในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต รวมถึงการขยายผลตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชน ด้วยการดำเนินงานที่เรียบง่ายและประหยัด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมให้สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งการปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ และสมุนไพร ในรูปแบบผสมผสาน ส่งผลให้พื้นที่ที่แห้งแล้ง กลับคืนสู่สภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน "ความเจริญเดินตามรอยไถ" ซึ่งมีการสาธิตกิจกรรมต่างๆ อาทิ การวิดน้ำด้วยชงโลง การวิดน้ำด้วยระหัดชกมวย การสีข้าวด้วยเครื่องสีมือ การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง การตำข้าวด้วยตะลุ่มพุก การฝัดข้าวด้วยกระด้ง การตำข้าวด้วยสากยาว และการหุงข้าวด้วยหม้อดินในโอกาสนี้ คณะทูตานุทูตและคู่สมรส ได้ร่วมกิจกรรมการทำนาแบบโยนกล้าและร่วมปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นสาเก , ต้นสารภีทะเล , ตะเคียนทอง และจำปี ที่ศาลาร่มโพธิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปล่อยพันธุ์ปลานิลจิตรลจากโครงการศูนย์เพาะพันธุ์ปลานิลจิตรลดา บ้านเกาะกา จังหวัดนครนายก ปัจจุบันโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมด้านการเกษตร เช่น การปลูกพืชโดยมีไม้ผลเป็นหลัก การเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ กิจกรร
ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมพืช กิจกรรมที่พักเพื่อการศึกษาดูงาน กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสัมมนา กิจกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เช่น การทำลูกประคบสมุนไพร ยาหม่องสมุนไพร เครื่องดื่มจากสมุนไพร น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร และสเปรย์ไล่ยุง เป็นต้น
เวลา 15.16 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงนำคณะทูตานุทูตและคู่สมรส เยี่ยมชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมในฤดูร้อน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2466 โดยทรงร่างแบบด้วยพระองค์เอง จัดเป็นที่ประทับที่มีความเรียบง่าย พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีลักษณะเป็นพระตำหนักแบบไทยผสมยุโรป สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าวแบบสี่เหลี่ยม ซึ่งสามารถกันแดดและกันฝนได้ดีกว่าแบบธรรมดา เพดานยกพื้นสูงมีบานเกร็ดระบายความร้อน ประกอบด้วย พระที่นั่งสามองค์ มีทางเชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด ได้แก่ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นพระที่นั่งองค์แรก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่างๆ และเป็นโรงละคร ซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน ประกอบด้วย อาคารต่างๆ อาทิ บ้านพักของเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ) ,พระที่นั่งสมุทรพิมานองค์ที่สอง เป็นส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า