เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 08.40 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ทรงนำคณะทูตานุทูตพร้อมคู่สมรสจาก 30 ประเทศ เยี่ยมชมโครงการฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านปัญหาขยะและน้ำเสีย ด้วยการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะชุมชนที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย และสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นในประเทศได้อย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ อาทิ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียใช้เลี้ยงปลาโดยไม่ต้องให้อาหาร ,ปุ๋ยหมักจากขยะชุมชน ซึ่งกว่าครึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย ,การใช้น้ำชะขยะ น้ำเสียและน้ำที่ผ่านการบำบัด นำมาปลูกพืช ซึ่งพืชที่เก็บเกี่ยวได้นำมาทำเครื่องจักสาน สินค้าหัตถกรรม และทำเยื่อกระดาษ นอกจากนี้ยังได้ขยายผลจัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ
โอกาสนี้ ทรงพระดำเนินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน "มัจฉาบาทา" ระยะทาง 860 เมตร ทอดพระเนตรสภาพป่าชายเลนในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งมีพันธุ์พืชหลายชนิด ส่วนมากเป็นต้นโกงกางใบใหญ่และแสมทะเล (สะ-แหม-ทะ-เล) ได้ฟื้นฟูโดยวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ คือ ปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากบ่อปรับสภาพที่มีธาตุอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าชายเลนตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19.5 ไร่ จาก 860 ไร่ในปี 2533 เพิ่มเป็น 1,260 ไร่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารแหล่งอาศัยของนกนานาชนิด เหมาะกับการศึกษาเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาของนก และเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญของประเทศ โดยมีนกอพยพและนกประจำถิ่นรวมกว่า 280 ชนิด อาทิ นกนางนวล, นกกระสานวล, นกกินเปรี้ยว, นกยางโทนใหญ่ และนกกระทุงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รวมทั้งมีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น โดยพบสัตว์น้ำมากกว่า 300 ชนิด อาทิ ปูแสม (ปู-สะ-แหม), ปูก้ามดาบ, ปลาตีน, หอยเสียบ, หอยแคลง และหอยตลับที่มีขนาดใหญ่กว่าที่พบโดยทั่วไป ตลอดจนพบ "ตัวเงินตัวทอง" ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศภายในพื้นที่โครงการฯ ส่งผลให้ประชาชนโดยรอบได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งโครงการฯ เฉลี่ยครัวเรือนละ 1,600 บาทต่อวัน
เวลา 13.38 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทรงนำคณะทูตานุทูตพร้อมคู่สมรส เยี่ยมชมวิถีชุมชนอัมพวา ตลาดน้ำอัมพวา และการใช้วิถีชีวิตริมคลองของชาวบ้าน
โอกาสนี้ ทรงพระดำเนินไปยังร้านชานชาลา เป็นร้านเครื่องดื่มและอาหารว่าง มีมุมจำหน่ายของที่ระลึกของโครงการฯ ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น โดยร้านนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่กิจกรรมภายในโครงการฯ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอัมพวา ซึ่งได้ตกแต่งร้านให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นร้านสมัยโบราณ ภายในโครงการฯ มีการจัดจำหน่ายสินค้า ผลผลิตของท้องถิ่น อาทิ ปลาทูแดดเดียว มะพร้าวน้ำหอม หมี่กรอบและฝอยทอง โดยจากการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรและชุมชน
ในการนี้ ทรงพระดำเนินไปยังสวนชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นการจัดพื้นที่สวนผลไม้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวา ในด้านการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอัมพวา อาทิ มะพร้าวมีการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โคมไฟจากกะลามะพร้าว รองเท้าเพื่อสุขภาพเหยียบกะลาฝ่าโรค กระถางปลูกต้นไม้จากใยมะพร้าว ท๊อฟฟี่มะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว เค้กมะพร้าว และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสาธิตงานหัตถกรรมชุมชน อาทิ การพับดอกกุหลาบจากใบเตย การสานหมวกจากใบมะพร้าว และการสานหมวกไห่หน่ำโล้ย หรือหมวกกะโล่ จากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรนำมาสืบสานต่อและอนุรักษ์ไว้เพื่อไม่ให้สูญหาย สำหรับการดำเนินงาน "โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์" ทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาและอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา ทั้งในด้านกายภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในชุมชน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาชีพ และประกอบกิจกรรมภายในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศน์ของสวนผลไม้ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยสร้างโอกาสให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวพระราชดำริฯ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง