- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา
- โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสัก
โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสัก
ในระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ กันยายน ๒๕๕๒ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานร่วมในโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสัก โดยมีท่านสมสะนิด บุดติวง รองเจ้าแขวงจำปาสัก เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีปิดการสัมมนา
ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ท่านสีคำตาด มีตะไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก หัวหน้าหน่วยต่างๆ จากแขวงจำปาสัก อาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยจำปาสัก นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ นายพิสุทธิ์ วิจารสรณ์ หัวหน้าคณะนักวิชาการ นักวิชาการด้านต่างๆ จากมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย
โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยจำปาสัก เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก เพื่อให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาที่จะได้ทดลองปฏิบัติงานจริงนอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานจากกรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของแปลงสาธิตฯ แล้วเสร็จ ประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่ภายในแปลง การปรับรูปแบบแปลงสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ การจัดทำระบบชลประทาน การก่อสร้างคอกสัตว์ต่างๆ โรงเก็บและผลิตอาหารสัตว์ การก่อสร้างบ่อเพาะเลี้ยง อาคารเพาะฟักสำหรับสัตว์น้ำ รวมทั้งการสร้างอาคารอเนกประสงค์และหอพักนักศึกษา และในปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตจากแปลงสาธิตที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว
การสัมมนาในครั้งนี้ ได้ประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำหนดแผนงานและปรับปรุงการบริหารโครงการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนประสานความร่วมมือต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์ และเป็นไปตามพระราชประสงค์อย่างแท้จริง