- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา
- ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน แก่ราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและสงขลา ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2557
ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน แก่ราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและสงขลา ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2557
วันที่ 22 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 11.00 น. นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้แทนโรงเรียน เพื่อใช้ในโครงการโรงเรียนเกษตรอาหารกลางวันตามพระราชดำริ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายเทิดศักดิ์ บุณยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมมอบเมล็ดพันธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
สืบเนื่องจาก กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด งานโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักงานจังหวัดนราธิวาส ได้ขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ และขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งสิ้น 80 โรง โดยแบ่งเป็นโรงเรียนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 28 โรง โรงเรียนเกษตรอาหารกลางวันขยายผลต่อเนื่องปี 2556 จำนวน 25 โรง และโรงเรียนเกษตรกลางวันขยายผล ปี 2557 จำนวน 27 โรง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์พืช จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวนทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่ มะเขือขาวกรอบ พริกขี้หนู พริกใหญ่ น้ำเต้า บวบหอม กวางตุ้ง และมะเขือยาว เพื่อใช้ในกิจกรรมดังกล่าว
โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดอาหารและพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาดังกล่าวจะนำไปสู่การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทั้งร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพทำให้เด็กเติบโตอย่างคนที่มีคุณภาพ เป็นกำลังที่จะช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองและประเทศชาติต่อไป
วันที่ 23 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อมอบเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทานให้แก่ราษฎรจังหวัดสงขลาที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองและโครงการซอยนี้มีรักปลูกผักแบ่งปัน ของมูลนิธิชัยพัฒนา และโรงเรียนขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเทิดศักดิ์ บุณยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมมอบเมล็ดพันธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และโครงการซอยนี้มีรักปลูกผักแบ่งปัน เป็นการดำเนินงานภายใต้การดูแลของโครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ทนทานต่อโรคและแมลง รวมถึงได้ผลผลิตที่ดี ต่อมาได้จัดตั้งโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง เพื่อขยายผลการปลูกพืชผักพื้นบ้านออกสู่ราษฎร เพื่อให้ราษฎรสามารถปลูกพืชผักพื้นบ้านบริโภคในครัวเรือน และสามารถเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อได้ จากนั้นได้ขยายสู่โครงการซอยนี้มีรักปลูกผักแบ่งปัน เพื่อให้คนในชุมชนปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ไว้ตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปรับประทาน
ในครั้งนี้ ได้มีราษฎรและเกษตรกรจากจังหวัดสงขลา สมัครใจเข้าร่วมโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และโครงการซอยนี้มีรักปลูกผักแบ่งปัน จำนวน 533 ครัวเรือน จาก 16 หมู่บ้าน ใน 16 อำเภอ และโรงเรียนขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ จังหวัดสงขลา ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2557 จำนวน 12 แห่ง จังหวัดสงขลาจึงขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน เพื่อให้การดำเนินงานรับสนองพระราชดำริและเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดสงขลา
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา นำเมล็ดพันธุ์พืชจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริมอบให้แก่ราษฎร ซึ่งประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์มะเขือขาวกรอบ พริกขี้หนู พริกใหญ่ น้ำเต้า บวบหอม กวางตุ้ง และมะเขือยาว ซึ่งเมล็ดพันธุ์พระราชทานดังกล่าว จะช่วยให้ราษฎรในชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งพาตนเองได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย และรู้จักการแบ่งปันซึ่งกันและกัน รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร ได้มีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงห่วงใยเสมอมาและมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น