- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา
- เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตรวจเยี่ยมฐานการเรียนรู้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตรวจเยี่ยมฐานการเรียนรู้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และดร.ลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตรวจเยี่ยมฐานการเรียนรู้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3 จำนวน 3 ฐาน ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งในแต่ละฐานมีรายละเอียดดังนี้
เวลา 10.00 น. ฐานการเรียนรู้ "ช่างพลังงานทดแทนระดับชุมชน" บ้านเหล่าเหนือ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ของนายสายชล ปัญจมาตย์ นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (รุ่นที่ 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม สาระสำคัญของฐานการเรียนรู้คือการบริหารจัดการน้ำและแสงสว่างเพื่อการเกษตร โดยใช้หลักการพลังงานทดแทนตามธรรมชาติ ใช้แผงโซลาร์เซลส์ขนาด 50 วัต ต่อกับปั๊มสูบน้ำขนาด 2 แอมป์ สามารถสูบน้ำเข้าใช้ในพื้นที่การเกษตรได้ ต้นทุนประมาณ 8,000 บาทต่อชุด
เวลา 13.30 น. ฐานการเรียนรู้ "สถานีสาราณียธรรม: พื้นที่บ่มเพาะความรู้ชุมชน" อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ของนายศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (รุ่นที่ 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม สาระสำคัญของฐานการเรียนรู้คือการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บ่มเพาะความรู้ของคนทุกช่วงวัยในชุมชนบนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักสาราณียธรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน และชุมชนเป็นผู้เลือกกำหนดชุดความรู้ต่างๆสำหรับการบ่มเพาะผู้คนในชุมชนเอง
เวลา 15.00 น. ฐานการเรียนรู้ "ศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาพผู้สูงอายุเชิงพหุวัฒนธรรม" บ้านหนองโข่ย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ของนายกมล ศรีล้อม นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (รุ่นที่ 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม สาระสำคัญของฐานการเรียนรู้คือการสร้างศูนย์กลางขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพผู้ สูงอายุของชุมชนในทุกมิติ เช่นมิติด้านสังคม มิติด้านวัฒนธรรม ฯลฯ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดภูมิปัญญาชุมชนสู่ลูกหลาน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน ใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรมส่งเสริม สุขภาพ และกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน