- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา
- เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1
วันที่ 30 มิถุนายน 2559 เวลา 10.30 น. นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1 (นพย.1) พร้อมบรรยายในหัวข้อ “คุณธรรมและจรรยาบรรณของผู้นำ” ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
การจัดทำหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้นำด้านต่างๆ ให้เพียบพร้อมทั้งคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และนำมาซึ่งเครือข่ายแห่งการทำความดี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานหลักสูตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรฯ
หลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร เข้าใจ คือต้องเข้าใจตนเอง รู้เขา และรู้เรา เข้าถึง คือการเรียนรู้กระบวนการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาด้านต่างๆ พัฒนา คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ และกระบวนการจัดการต่างๆ ให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ บูรณาการแนวคิด และประสบการณ์ในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
ระยะเวลาในการอบรมของหลักสูตรฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 28 วัน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559 ประกอบด้วยอบรมภาควิชาการ จำนวน 19 รายวิชา โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาวิชามาเป็นวิทยากร อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และผศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร เป็นต้น ส่วนภาคปฏิบัติ ได้แก่ การศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ การศึกษาดูงานกับปราชญ์ท้องถิ่น และการสัมมนาสรุปรวบรวมองค์ความรู้ โดยได้คัดเลือกผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นจำนวน 36 คน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน อาจารย์ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา รวมถึงผู้แทนองค์กรเครือข่ายการพัฒนา
เมื่อจบหลักสูตร ผู้ผ่านการอบรมจะมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและจิตสำนึกของการเป็นผู้นำที่เป็นคนดี มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดความสมดุล โดยสามารถนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวทางปฏิบัติและสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไป