- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา
- เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นำคณะผู้อบรมหลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รุ่นที่ 1 (นพย.1) ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดบุรีรัมย์
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นำคณะผู้อบรมหลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รุ่นที่ 1 (นพย.1) ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดบุรีรัมย์
วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2559 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นำคณะผู้อบรมหลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รุ่นที่ 1 (นพย.1) ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย ศึกษาดูงาน ณ “มหาชีวาลัยอีสาน ครูบาสุทธินันท์ บ้านปากช่อง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์” และศึกษาดูงาน ณ “ศูนย์ปราชญ์ชุมชนพ่อคำเดื่อง ภาษี ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์”
มหาชีวาลัยอีสาน ครูบาสุทธินันท์ บ้านปากช่อง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อตั้งโดย นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นักวิจัยชาวบ้านด้านการเกษตร นักพัฒนาการถ่ายทอดความรู้และสร้างแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองให้กับเกษตรกร การจัดการด้านการแปรรูปและธุรกิจชุมชน มีการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรกรรมพึ่งตนเอง ด้านอุตสาหกรรมชุมชนและด้านธุรกิจชมชนรวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินงานเริ่มในปี 2537 โดยได้ร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและสภาการศึกษาแห่งชาติ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ มูลนิธิซาซากาว่า จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงความร่วมมือภายในท้องถิ่น ได้แก่ นายผาย สร้อยสระกลาง นายคำเดื่อง ภาษี และศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ก่อตั้งโรงเรียนชุมชนอีสาน เพื่อให้คนไทยพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทำให้เครือข่ายขยายตัวอย่างออกไปอย่างกว้างขวาง
ศูนย์ปราชญ์ชุมชนพ่อคำเดื่อง ภาษี ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนายคำเดื่อง ภาษี โดยในปี 2539 ได้ตั้งศูนย์การถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจเกษตรธรรมชาติขึ้น จากนั้นกองทุนสิ่งแวดล้อมเห็นความสำคัญของการทำเกษตรธรรมชาติ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้สร้างโรงเรียนชุมชน โดยใช้บ้านและแปลงนาของนายคำเดื่องฯ เป็นโรงเรียนชุมชนอีสานสำหรับการถ่ายทอดแนวคิด และความรู้ในเรื่องการทำเกษตรธรรมชาติให้แก่กลุ่มเกษตรกร
ในปี 2541 ศูนย์ฯ ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดีจังหวัดขอนแก่น ได้รวมเครือข่ายการเรียนรู้ โดยใช้ชื่อ “เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน” และในปี 2543 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเพื่อสังคมให้จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้น และเป็นจุดเรียนรู้สืบต่อมาจนปัจจุบัน
หลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รุ่นที่ 1 (นพย.1) การจัดทำหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้นำด้านต่างๆ ให้เพียบพร้อมทั้งคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และนำมาซึ่งเครือข่ายแห่งการทำความดี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานหลักสูตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรฯ
หลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร เข้าใจ คือต้องเข้าใจตนเอง รู้เขา และรู้เรา เข้าถึง คือการเรียนรู้กระบวนการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาด้านต่างๆ พัฒนา คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ และกระบวนการจัดการต่างๆ ให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ บูรณาการแนวคิด และประสบการณ์ในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
ระยะเวลาในการอบรมของหลักสูตรฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 28 วัน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559 ประกอบด้วยอบรมภาควิชาการ จำนวน 19 รายวิชา โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาวิชามาเป็นวิทยากร อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ฯลฯ ส่วนภาคปฏิบัติ ได้แก่ การศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ การศึกษาดูงานกับปราชญ์ท้องถิ่น และการสัมมนาสรุปรวบรวมองค์ความรู้ โดยได้คัดเลือกผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นจำนวน 36 คน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน อาจารย์ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา รวมถึงผู้แทนองค์กรเครือข่ายการพัฒนา
เมื่อจบหลักสูตร ผู้ผ่านการอบรมจะมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและจิตสำนึกของการเป็นผู้นำที่เป็นคนดี มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดความสมดุล โดยสามารถนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวทางปฏิบัติและสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไป