- หน้าแรก
- แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙
- วัดที่ขอใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- วัดทัพหลวง ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
วัดทัพหลวง ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
วัดทัพหลวง
ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
วันที่ได้รับพระราชานุมัติ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕
เรื่องเดิม
พระสมุห์คำมา อินฺทวีโร เจ้าอาวาสวัดทัพหลวง ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ขออนุญาตนำแบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร นำไปใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอุโบสถที่วัดทัพหลวง ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการประกอบศาสนพิธีของวัด และทดแทนอุโบสถหลังเก่าที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม
ข้อเท็จจริง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของวัดทัพหลวง ซึ่งตั้งอยู่ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยได้ไปพบกับเจ้าอาวาสของวัดทัพหลวง เพื่อรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สถานที่ตั้ง วัดทัพหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นวัดเก่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ต่อมา กรมการศาสนา ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดทัพหลวง ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ การเดินทางมายังวัดทัพหลวง สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๑๑ หลักกิโลเมตรที่ ๗๓ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านไร่ ประมาณ ๖ กิโลเมตร
๒. เนื้อที่วัด วัดทัพหลวงมีเนื้อที่รวมประมาณ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๙๕ ตารางวา โดยมีโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๘๔๒ เล่ม ๑๐๙ หน้า ๔๒ เลขที่ดิน ๑๙๑ หน้าสำรวจ ๑๒๕๗ โดยมีพระสมุห์คำมา อินฺทวีโร อายุ ๔๐ ปี พรรษา ๕ ปี เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน รวม ๑๓ ปี ๕ เดือน มีพระจำพรรษาประจำ ๖ รูป สามเณร ๑ รูป
๓. สิ่งก่อสร้างภายในวัด ภายในวัดทัพหลวง มีสิ่งก่อสร้างภายในวัด ได้แก่ ศาลาการเปรียญ จำนวน ๒ หลัง (หลังเก่า และหลังใหม่) กุฎิพระสงฆ์ จำนวน ๔ หลัง อุโบสถหลังเดิม จำนวน ๑ หลัง เมรุ จำนวน ๑ หลัง ห้องสุขา จำนวน ๑ หลัง ประปาหมู่บ้าน จำนวน ๑ หลัง เป็นต้น ปัจจุบัน วัดทัพหลวง มีอุโบสถหลังเก่าซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมของสงฆ์ แทนที่อุโบสถหลังเดิม
๔. วัดทัพหลวง เป็นศูนย์กลางของชุมชนตำบลทัพหลวงในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนมีความพร้อมที่จะช่วยกันร่วมทำบุญในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ