- หน้าแรก
- แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙
- วัดที่ขอใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- วัดพิชัย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
วัดพิชัย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
วัดพิชัย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
วันที่ได้รับพระราชานุมัติ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘
เรื่องเดิม
พระครูสุภัทรสีลคุณ เจ้าอาวาสวัดพิชัย ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ขออนุญาตนำแบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร นำไปใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอุโบสถที่วัดพิชัย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการประกอบศาสนพิธีของวัด และทดแทนอุโบสถหลังเก่าที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม
ข้อเท็จจริง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของวัดพิชัย ซึ่งตั้งอยู่ ณ แขวง คลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร โดยได้ไปพบกับเจ้าอาวาสของวัดพิชัย เพื่อรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สถานที่ตั้ง
วัดพิชัย ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ที่ 1 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดพิชัยทัศนาราม สว่างอารมณ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยนายแก่นและนางน้อย คงบำรุง เป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด ผู้ดำเนินการก่อสร้างได้แก่ พระอธิการหนูและราษฎรที่มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะ เพื่อใช้เป็นที่พักสงฆ์และบำเพ็ญกุศล ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2425 พื้นที่เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15.21 เมตร ยาว 24 เมตร ในภายหลัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัด ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ณ วันที่ 2 เมษายน 2553
วัดพิชัยมีอาณาเขตทิศเหนือจรดชุมชนวัดพิชัย ทิศใต้จรดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกจรดคลองสาธารณะวัดพิชัย และทิศตะวันตกจรดชุมชนวัดพิชัย
2. เนื้อที่วัด
วัดพิชัย มีเนื้อที่รวมประมาณ 6 ไร่ 71 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 62319 ออก ณ วันที่ 25 มกราคม 2517
มีพระสงฆ์จำพรรษาประจำ 40 รูป สามเณร 2 รูป โดยมีพระครูสุภัทรสีลคุณ ฉายา สุทฺธิโก อายุ 53 ปี พรรษา 30 ปี เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 14 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2546 จนถึงปัจจุบันรวม 12 ปี
วัดพิชัย มีประวัติการบริหารการปกครอง (เจ้าอาวาส) ดังนี้
รูปที่ 1 พระอธิการหนู พ.ศ. 2410 ถึง พ.ศ. 2418
รูปที่ 2 พระอธิการอ้วน พ.ศ. 2418 ถึง พ.ศ. 2435
รูปที่ 3 พระอธิการนุช พ.ศ. 2435 ถึง พ.ศ. 2456
รูปที่ 4 พระอธิการพลัด พ.ศ. 2456 ถึง พ.ศ. 2461
รูปที่ 5 พระอธิการเขียว พ.ศ. 2461 ถึง พ.ศ. 2476
รูปที่ 6 พระอธิการเงิน พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2483
รูปที่ 7 พระอธิการเถิ่ง พ.ศ. 2483 ถึง พ.ศ. 2485
รูปที่ 8 พระอธิการป๊อก พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2501
รูปที่ 9 พระอธิการปลิว พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2502
รูปที่ 10 พระอธิการยัง พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2505
รูปที่ 11 พระอธิการสุเมธ อภิธมฺโม พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2522
รูปที่ 12 พระราชรัตนเมธี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2526
รูปที่ 13 พระครูวิชัยกิจจานุรักษ์ พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2545
รูปที่ 14 พระครูสุภัทรสีลคุณ พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน
- สิ่งก่อสร้างภายในวัด
ภายในวัดพิชัย มีสิ่งก่อสร้างภายในวัด ได้แก่ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์เป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 3 แถว กุฏิเจ้าอาวาส ศาลาอเนกประสงค์ 2 หลัง หอระฆัง หอกลอง โรงครัว เรือนเก็บพัสดุ ศาลาบำเพ็ญกุศล 6 หลัง ฌาปนสถาน โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และอุโบสถหลังเก่า ภายในมีพระประธานประจำอุโบสถ
ปัจจุบัน วัดพิชัยมีอุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 11.30 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2425 มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยใช้วิธีการสร้างแบบครอบทับหลังเดิม
- อุโบสถหลังปัจจุบัน
วัดพิชัย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเขตบึงกุ่ม อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ โครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน บวชชีพราหมณ์เป็นประจำทุกปี ปัจจุบัน อุโบสถหลังเก่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลา 133 ปี สภาพผนังด้านนอกอุโบสถแตกร้าว ผนังหลุดลอกเป็นแผ่น เหนือประตูอุโบสถมีสภาพเสียหาย เสาไม้ด้านในอุโบสถแตกหักชำรุด เจ้าอาวาส คณะกรรมการวัด และเจ้าภาพจึงมีความประสงค์จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่โดยสร้างแบบครอบทับหลังเดิม