- หน้าแรก
- แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙
- วัดที่ขอใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- วัดนาเขื่อน ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
วัดนาเขื่อน ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
วัดนาเขื่อน
ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
เรื่องเดิม
พระมหาชุมพล ชุติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดนาเขื่อน ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ขออนุญาตนำแบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร นำไปใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอุโบสถที่วัดนาเขื่อน ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการประกอบศาสนพิธีของวัด และทดแทนอุโบสถหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม
ข้อเท็จจริง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของวัดนาเขื่อน ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยได้ไปพบกับพระมหาชุมพล ชุติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดนาเขื่อน เพื่อรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ประวัติความเป็นมา
วัดนาเขื่อน เป็นวัดเก่าแก่ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2405 ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้ร้างไประยะหนึ่ง ไม่มีพระจำพรรษา จนถึงในปี พ.ศ. 2503 พระครูศรีสัตยาภิวัฒน์ ได้ส่งพระประกอบ สีตธมฺโม มารักษาการเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก วัดนาเขื่อนได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2452 แนวเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 6.50 เมตร ยาว 11.50 เมตร บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2477 และครั้งที่สอง ประมาณปี พ.ศ. 2512 ได้รับหนังสือรับรองสภาพวัดจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชลบุรี ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2535 ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553
2. สถานที่ตั้งและเนื้อที่วัด
วัดนาเขื่อน มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 38 ไร่ 1 งาน 71 ตารางวา โดยมีรายละเอียดตามเอกสารโฉนดที่ดิน ดังนี้
- โฉนดที่ดินเลขที่ 3443 เล่ม 35 หน้า 43 ระวาง 5235 IV 2078 เลขที่ดิน 150 มีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา
- โฉนดที่ดินเลขที่ 3442 เล่ม 35 หน้า 42 ระวาง 5235 IV 2073 เลขที่ดิน 151 หน้าสำรวจ 3113 มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา
- โฉนดที่ดินเลขที่ 3432 เล่ม 35 หน้า 32 ระวาง 5235 IV 2078 เลขที่ดิน 35 มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา
- โฉนดที่ดินเลขที่ 3507 เล่ม 36 หน้า 7 ระวาง 293 เลข 29 มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา
- โฉนดที่ดินเลขที่ 4599 เล่ม 46 หน้า 99 ระวาง 27 3 6 ฏ เลขที่ดิน 71 หน้า 431 มีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 40 ตารางวา
วัดนาเขื่อน มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดติดถนน ทิศใต้และทิศตะวันออกติดชุมชน ทิศตะวันตกติดโรงเรียนวัดน่าเขื่อน พื้นที่รอบข้างเป็นชุมชนเมือง
3. เจ้าอาวาสและพระสงฆ์
วัดนาเขื่อน มีพระภิกษุรวม 11 รูป สามเณร 2 รูป โดยพระมหาชุมพล ฉายา ชุติปญฺโญ อายุ 35 ปี พรรษา 7 ปี วิทยฐานะ นักธรรมเอก เปรียญธรรม 6 ประโยค เป็นเจ้าอาวาส ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 เดือน
- สิ่งก่อสร้างภายในวัด
ภายในวัดนาเขื่อนมีพุทธสถานสิ่งก่อสร้างที่สำคัญในเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตฆราวาส ดังนี้ เขตพุทธาวาส มีพระอุโบสถหลังเดิม 1 หลัง เขตสังฆาวาส มีกุฏิสงฆ์จำนวน 15 หลัง เขตสังฆาวาส มีศาลาการเปรียญ วิหาร ศาลาฌาปนสถาน เมรุ และหอระฆัง รายละเอียด ดังนี้
5. อุโบสถ
วัดนาเขื่อน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลนาป่า เป็นวัดประจำชุมชน เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ กิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมตักบาตร ทอดกฐิน ถือศีลในวันพระ เป็นสถานที่ทำวัตรปฏิบัติธรรมในช่วงวันพระ
วัดนาเขื่อน มีอุโบสถหลังเดิมอายุประมาณ 122 ปี ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และผุพังไปตามกาลเวลา ปลวกขึ้นบริเวณขอบผนัง เพดานปริแตก พื้นแตกหลุดร่อน ผนังแตกร้าว ในการนี้ เจ้าอาวาส กรรมการวัด และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ได้พิจารณาเห็นสมควรที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นตามแบบของพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อทดแทนอุโบสถหลังเดิม โดยจะทำการอนุรักษ์อุโบสถหลังเดิมไว้เพื่อเป็นธรรมสถานภายในวัดต่อไป ทั้งนี้ วัดนาเขื่อน ได้จัดเตรียมสถานที่บริเวณหน้าวัดไว้เรียบร้อยแล้วสำหรับการก่อสร้าง ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งเจ้าอาวาสวัดฯ มีแนวคิดในการจัดสร้างอุโบสถในรูปแบบอุโบสถเชิงนิเวศ เน้นความเรียบง่ายเคียงคู่ธรรมชาติ ปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามตามภูมิสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุ ให้สามารถเดินทางมายังวัด และใช้อุโบสถเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อความสงบสุขทางจิตใจ
วัดนาเขื่อน มีการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมภายในวัดเป็นอย่างดี เจ้าอาวาสวัดฯ ปกครองวัดโดยเน้นการมีส่วนร่วมของพระภิกษุ-สามเณรทุกรูปภายในวัด โดยการใช้เวลาว่างร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อประโยชน์สำหรับพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัด ผลงานที่แล้วเสร็จและสามารถใช้งานได้จริง ได้แก่ กุฏิพระสงฆ์ เรือนสุขา และศาลาการเปรียญ เป็นต้น นอกจากนี้ เจ้าอาวาสวัดฯ มีดำริให้พระภิกษุ-สามเณรภายในวัดร่วมกันก่อสร้างและตกแต่งอุโบสถหลังใหม่นี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในชุมชนมีความพร้อมที่จะช่วยกันร่วมทำบุญในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ