ศัพท์ควรรู้ในโครงการพระราชดำริ
เรียบเรียงโดย ศุลีพร บุญบงการ
ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกยุคใหม่ที่วุ่นวายสับสน กระแสของโลกไร้พรมแดน
หรือกระแสของโลกาภิวัฒน์กำลังมาแรง ทำให้โลกและสังคมไทยที่เราอาศัยอยู่นี้เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงที่ดีก็มีอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบที่ไม่ดีก็มีมาก หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือวิถีชีวิตแบบไทยๆ หรือวิถีชีวิตแบบชาวพุทธในสังคมไทยได้เริ่มจางหายไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดเล็ก ๆ ในชุมชนเมือง
ชื่อภาษาอังกฤษของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนั้น คือ The Rama IX Golden
Jubilee Temple คำว่าพระรามในภาษาอังกฤษก็คือ Rama ส่วนเลข 9 ใช้เป็นเลขโรมัน ซึ่งได้แก่การผสมกันระหว่างเลข 1 ที่อยู่หน้าเลข 10 (1 = I และ 10 = X) สำหรับคำว่ากาญนาภิเษก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Golden Jubilee คำว่า กาญจนา แปลว่าทอง หรือ Golden สนธิกับคำว่า อภิเษก ซึ่งแปลว่า Jubilee และคำว่าวัดในความหมายของวัดไทย หรือวัดในศาสนาพุทธ เรามักใช้คำว่า Temple คำอื่นก็ใช้ได้เช่นกัน เช่นคำว่า Monastery หรือคำว่า Cloister ซึ่งแปลว่าวัด อาราม ที่อยู่ของพระ หรือที่อยู่ทางศาสนา แต่อาจไม่ใช้แพร่หลายเท่ากับคำว่า Temple
คำว่ากาญจนาภิเษกนั้นใช้เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ซึ่งได้
เกิดขึ้นในประเทศไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เมี่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชทรงครองราชย์ครบ 50 ปี คนส่วนใหญ่อาจคุ้นหูกับอีกคำหนึ่งคือคำว่า รัชดาภิเษก ซึ่งเป็นชื่อถนนสายหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วย คำว่ารัชดาภิเษกนี้ เกี่ยวข้องการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน คือเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี ก็จะจัดการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวขึ้นที่เรียกว่า รัชดาภิเษก หรือ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Silver Jubilee คำว่า รัชด หรือ รัชต หมายความว่า เงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Silver (สนธิกับคำว่า อภิเษก กลายเป็นรัชดาภิเษก ส่วนการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปีนี้ ภาษาอังกฤษเรียกกันทั่วไปว่า Diamond Jubilee ซึ่งภาษาไทยตามราชบัณฑิตยสถานยังไม่ได้รับการบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการ
นอกจากวัดนี้จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ เคียง และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนแล้ว วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกยังเป็นวัดตัวอย่างในลักษณะรูปแบบ "บวร" ซึ่งเป็นการผสมผสานของวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่าง บ้าน หรือ Home วัด หรือ Temple และ ราชการ (โรงเรียน) หรือ Government Agencies (School) ในลักษณะพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นแบบฉบับที่พึงยึดถือเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนเป็นศูนย์รวมของชุมชนเพื่อพัฒนาด้านจิตใจ และสร้างความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่นของสังคมโดยส่วนรวมสืบไป ดังนั้นคำว่า บวร จึงไม่มีคำแปลที่เป็นภาษาอังกฤษตรงตัว แต่สามารถใช้คำว่า Three Pillars หรือ เสาหลักทั้งสามต้น แทนได้ คำว่า pillar สามารถใช้คำว่า post และ column ซึ่งแปลว่า เสา หรือคำว่า support ซึ่งแปลว่าการช่วยเหลือ สนับสนุน ในความหมายใกล้เคียงได้เช่นกัน