แรกเริ่ม การออกแบบพระอุโบสถ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม และศิลปินแห่งชาติ ได้นำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร มีรับสั่งให้ย่อลงให้มีขนาดกะทัดรัดสอดคล้องกับลักษณะของชุมชน ด้วยไม่โปรดสิ่งที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น มีพระราชประสงค์ให้วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดของชุมชน เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ จากเดิมที่ออกแบบให้พระอุโบสถจุคนได้ 100 คนเศษ ทรงให้ลดลงเหลือเพียงจุคนได้ 30-40 คนลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้ เหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท (ปี 2540) เน้นความประหยัด เรียบง่าย และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย (ปัจจุบัน ไม่เกิน 6 ล้านบาท)
พลอากาสตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น จึงน้อมรับพระราชกระแสมาออกแบบพระอุโบสถใหม่ โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในอาคารอย่างคุ้มค่า ส่วนรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เน้นความเป็นเฉพาะในแบบอย่างสถาปัตยกรรมปัจจุบัน โดยได้ต้นเค้าจากพระอุโบสถวัดต่างๆ ดังนี้
- พระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร เช่น รูปทรงของเสาพระอุโบสถ
- พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เช่นความเรียบง่าย และมุขประเจิด
- พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการผูกลายปูนปั้นประดับหน้าบัน
โครงสร้างพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทอง เฉพาะที่ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ช่อฟ้าใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้น ไม่ปิดทองประดับกระจกผนัง และเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้แบบเรียบ ฝังไฟเป็นระยะ โคมไฟในแนวกลาง เดิมออกแบบเป็นโคมหวด หรืออัจกลับแบบเรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชา ประดับไว้แทนรวม 4 ช่อ
พื้นพระอุโบสถ เดิมออกแบบเพียงปูนขัดมัน แต่มีผู้ศรัทธา บริจาคทุนทรัพย์ให้ปูหินแกรนิตตลอดถึงพื้นโถงและบันไดหน้าหลัง พื้นกำแพงแก้วปูหินทรายสีเหลือง และสีแดงน้ำตาล ใบเสมาอันเป็นที่หมายลุกนิมิต ทำเป็น 2 แบบ ที่มุมทั้ง 4 เป็นหลักเสมาหินทรายสีเขียวจำหลักเป็นรูปเสา หัวเสาประดับลายดอกบัว ติดไว้ที่กึ่งกลางบันไดอีก 2 จุด ที่กึ่งกลางด้านซ้ายและขวาของพระอุโบสถ ติดแผ่นเสมาหินแกรนิตแบบเดียวกันไว้บนแท่นสูงจากระดับพื้นกำแพงแก้วเล็กน้อย กำแพงแก้วก่ออิฐฉาบปูนเป็นช่วงสั้นๆ เฉพาะ2ข้าง บันไดทั้ง 4 ด้าน และที่มุมทั้ง 4 โดยปลูกดอกไม้เป็นแนวเชือม
ในโอกาสนี้ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธยประดิษฐานที่ใต้หน้าบันพระอุโบสถ โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดพระราม9 กาญจนาภิเษกด้วย
ภายหลังจากการสร้างพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้ดำเนินการเก็บสำเนาแบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อมอบให้กับวัดหรือหน่วยงานที่สนใจเพื่อนำไปสร้างพระอุโบสถ/อุโบสถต่อ โดยเน้นถึงความประหยัด เรียบง่าย และการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ โดยผู้ที่สนใจ สามารถแจ้งความประสงค์และประสานมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
รายละเอียดเอกสารที่จะต้องเตรียมก่อนการขอแบบโบสถ์วัดพระราม9ฯ
*** เอกสารทั้งหมดให้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าอาวาส และส่งมาที่
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2012 ซอยอรุณอมรินทร์36 ถนนอรุณอมรินทร์
แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัดกรุงเทพฯ 10700
(หรืออาจจัดเตรียมเอกสารไว้รอเจ้าหน้าที่เพื่อไปตรวจสอบก่อนก็ได้)
รายชื่อวัดที่ได้รับพระราชทานแบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก (คลิก)