โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ปักธงชัย) จ.นครราชสีมา
โครงการสาธิตทฤษฏีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ปักธงชัย) จังหวัดนครราชสีมา
พระราชดำรัส / พระราชดำริ / ความเป็นมา
พระราชดำรัส
“มีคนเอาที่มาให้อยู่อำเภอปักธงชัย...บอกว่าทำอะไรก็ได้...
จึงจะทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ ในที่ที่เหลือส่วนหนึ่งจะทำการเพาะปลูกแบบชาวบ้านแบบไม่ได้ส่งเสริม
หมายความว่าใช้น้ำฝน ใช้ธรรมชาติแต่อีกส่วนหนึ่งจะทำแบบทฤษฎีใหม่ที่ขุดสระ
และแบ่งเป็นส่วนที่จะปลูกข้าว ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชสวน”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้รับที่ดินที่ราษฎร น้อมเกล้าฯ ถวาย บริเวณ ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และพระราชทานที่ดังกล่าวให้จัดทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ขนาดเล็กๆ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางจรรยา ปั้นดี เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 2 แปลง พื้นที่รวมทั้งสิ้น 21 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 บ้านฉัตรมงคล ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำเป็นโครงการสาธิต “ทฤษฎีใหม่” และการทำนาแบบวิถีชาวบ้าน
ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 นางสมควร มณีสุริยา ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าถวายที่ดิน อยู่ติดกันทางทิศใต้แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพิ่มเติมอีก จำนวน 7 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา นอกจากนี้ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2548 นายรัตนะ ปั้นดี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ซึ่งอยู่ติดกันทางทิศตก แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 32 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา
วัตถุประสงค์โครงการ / เป้าหมาย
วัตถุประสงค์โครงการ
1.เพื่อสาธิตการทำเกษตร “ทฤษฎีใหม่" โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ให้บริการทางวิชาการเกษตร
3.เป็นสถานที่ฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร แบบผสมผสานแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรม
1.กิจกรรมทฤษฎีใหม่ พื้นที่ 15 ไร่
1.1 สระกักเก็บน้ำ 2 ไร่ 2 งาน (ร้อยละ 17)
1.2 นาข้าว 4 ไร่ 2 งาน (ร้อยละ 30)
1.3 การเกษตรทางด้านอื่น 7 ไร่ (ร้อยละ 47)
1.4 ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ (ร้อยละ 6)
2.กิจกรรมข้าว พื้นที่ 9 ไร่
3.กิจกรรมบริหารทั่วไป พื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน
ทฤษฎีใหม่
บทนำ
ปัญหาหลักของเกษตรกรในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สำคัญประการหนึ่ง คือการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในเขตมีฝนน้อยและส่วนมากเป็นนาข้าว และพืชไร่ เกษตรกรยังคงทำการเพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และมีความเสี่ยงกับความเสียหาย อันเนื่องมาจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศและฝนทิ้งช่วง แม้ว่าจะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้บ้างแต่ก็ไม่มีขนาดแน่นอน หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นปัญหาให้มีน้ำใช้เพียงพอ รวมทั้งระบบการปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เพี่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้ โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก พระราชดำรินี้ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินน้อย สามารถยกระดับผลผลิตไร่นาของตนให้พอเพียงและสามารถเลี้ยงตนเองได้ในระดับหนึ่ง บนพื้นฐานของความประหยัดและสามัคคีในท้องถิ่นช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจการค้า และเพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ขั้นตอนการดำเนินงาน
ทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้กับเกษตรกรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติออกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 การผลิต
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1
เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ 30:30:30:10 หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นตอนของการผลิตเพื่อให้บริโภคเพียงพอต่อการดำรงชีพ หากผลผลิตเหลือจึงนำไปจำหน่าย สามารถดำเนินการ ได้ด้วยการบริหารจัดการที่ดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน
ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ดังนี้
ส่วนที่ 1 : พื้นที่ร้อยละ 30 เพื่อขุดสระน้ำสำหรับกักเก็บน้ำฝนไว้ให้แก่ข้าวนาปียามที่ข้าวต้องการน้ำ และหากมีน้ำเหลือก็อาจใช้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย
ส่วนที่ 2 : พื้นที่ร้อยละ 30 เพื่อปลูกข้าวสำหรับบริโภคภายในครัวเรือน
ส่วนที่ 3 : พื้นที่ร้อยละ 30 เพื่อปลูกพืชสวนหรือพืชไร่ โดยยึดหลักว่าควรปลูกพืชที่จะต้องบริโภค
ส่วนที่ 4 : พื้นที่ร้อยละ 10 เพื่อปลูกที่อยู่อาศัย โรงเก็บของ โรงเลี้ยงสัตว์ ถนนเข้าบ้าน
*สัดส่วนที่ให้ไว้ 30:30:30:10 เป็นสัดส่วนไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น จำนวนสมาชิกในครัวเรือน สภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เป็นต้น
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 การรวมกลุ่ม
เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ เพื่อวางแผนร่วมกันในการผลิต การตลาด การศึกษา การเป็นอยู่ สวัสดิการ สังคมและศาสนา
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 การดำเนินธุรกิจ
ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงินมาช่วยในการลงทุน เช่น โรงสี สหกรณ์ร้านค้า สถานีบริการน้ำมันรวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3
วีดีโอแนะนำโครงการ
สถานที่ตั้งโครงการ
ชื่อโครงการ : โครงการสาธิตทฤษฏีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ปักธงชัย)
ที่ตั้งโครงการ : หมู่ที่ 14 ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150
โทรศัพท์ : 1.นายกุลวัฒน์ ศรีอินทร์งาม (ผู้จัดการโครงการ) (081-7121576, 083-7541248)