โครงการศึกษาทดลองการปลูกปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และพืชพลังงานทดแทน
โครงการศึกษาทดลองการปลูกปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ
และพืชพลังงานทดแทน
ความเป็นมา / พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการศึกษา ทดลองการปลูกปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และพืชพลังงานทดแทนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในอนาคต โดยให้ดำเนินการในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา (ที่ว่างเปล่า) ทั่วประเทศ และพิจารณาหาพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกประมาณ 10,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งให้พิจารณาการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ดังเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส หรืออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และให้พิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลขนาดเล็กที่ใช้น้ำมันปาล์ม สบู่ดำ และ/หรือพืชพลังงานอื่นๆ ในการผลิต
หน่วยงานรับผิดชอบ
กรมวิชาการเกษตร และ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานกรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร เพื่อทดลองปลูกสบู่ดำ สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์ปรับปรุงโดยกรมวิชาการเกษตร จำนวนประมาณ 100 ไร่ (ระยะ 2 X 2 เมตร) ตั้งแต่ปี 2548 ภายในพื้นที่โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการดูแลแปลงปลูก ซึ่งการดูแลไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสบู่ดำเป็นพืชทนแล้ง ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน เพียงใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี พร้อมทั้งกำจัดวัชพืช ทั้งนี้ พบว่าสบู่ดำเจริญเติบโตดีในพื้นที่ดอน ส่วนพื้นที่ที่ระบายน้ำไม่ดี หรือพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง ต้นสบู่ดำจะแคระแกรน ไม่สมบูรณ์ มีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ การให้ผลผลิตไม่เต็มที่ สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ ร้อยละ 65 ของพื้นที่ และสามารถเก็บผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ในปัจจุบันสบู่ดำสามารถให้ผลผลิตเมล็ดแห้งได้รวม 2,500 กิโลกรัม ต่อปี ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้รับส่วนหนึ่งจะมอบให้สถาบันวิจัยเกษตรกรรม กรมวิชาการเกษตร นำไปทดลอง และปรับปรุงเครื่องต้นแบบการบีบอัดน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ เครื่องดังกล่าว สามารถสกัดเมล็ดสบู่ดำแห้ง จำนวน 4 กิโลกรัม และได้น้ำมันสบู่ดำจำนวนประมาณ 1 ลิตร
ในส่วนการติดตามผลงานการวิจัยสบู่ดำในแปลงปลูกสบู่ดำของกรมวิชาการเกษตรนั้น สถาบันวิจัยพืชไร่ ได้ดำเนินการคัดเลือกสายพันธุ์จากแลงของโครงการได้ 31 พันธุ์ และนำไปเปรียบเทียบพันธุ์แบบต้นตอในเขตศูนย์วิจัยพืชสวน เพชรบุรี นอกจากนี้ ยังได้สำรวจพบว่าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ได้แก่ Th04 ได้ 245 กิโลกรัม ต่อไร่ และในส่วนการสำรวจโรคและแมลง พบว่า เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยเป็นแมลงที่ทำให้ผลผลิตสบู่ดำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สถาบันวิจัยพืชไร่ยังได้จัดส่งสบู่ดำสารพิษน้อยไปยังสถาบันวิจัยพืชไร่ สุพรรณบุรี เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยสบู่ดำสารพิษน้อย โดยเฉพาะ Phorbol Ester เพื่อนำกากไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นการเพิ่มมูลค่าและอาจสร้างความคุ้มทุนในเชิงพาณิชย์หากต้องการนำสบู่ดำมาใช้ผลิตไบโอดีเซลในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 สบู่ดำดังกล่าวได้เริ่มออกดอกแล้ว
การดำเนินงานในระยะต่อไป
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะดำเนินการประสานกับกรมพัฒนาที่ดิน และกรมป่าไม้ เพื่อขอขยายแปลงปลูกปาล์มและสบู่ดำ รวมทั้งติดตามงานโครงการต่างๆ ที่ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง