โครงการวิจัยชุดปาล์มน้ำมัน และพืชพลังงานทดแทน ของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการวิจัยชุดปาล์มน้ำมัน และพืชพลังงานทดแทน
ของมูลนิธิชัยพัฒนา
ความเป็นมา / พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการศึกษา วิจัยและทดลองการนำปาล์มน้ำมันดิบมาสกัด และศึกษาการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อใช้แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในอนาคต
หน่วยงานรับผิดชอบ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อดำเนินการโครงการชุดปาล์มน้ำมัน และพืชพลังงานทดแทนของมูลนิธิชัยพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขันได้
1.1 โครงการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นกรด
เป็นการรวบรวม ค้นคว้าข้อมูล และวางแผนการทดลอง โดยดำเนินการเป็นคู่ขนานกับการออกแบบกระบวนการ และการออกแบบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใช้ฐานของกำลังการผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง 5 ลิตรต่อชั่วโมง และออกแบบให้สามารถรองรับการผลิต ในช่วง 4 7 ลิตรต่อชั่วโมง กระบวนการผลิตในภาพรวม ประกอบด้วยส่วนการผลิตหลัก (Main Processing Unit) ซึ่งเป็นส่วนของการผลิตไบโอดีเซลจากกรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) และส่วนขยายการผลิต (Extended Processing Unit) ซึ่งเป็นส่วนของการแปรรูปวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ไขสบู่ น้ำมันที่ปนเปื้อน หรือตกค้างในบ่อน้ำเสีย และสารอินทรีย์ที่แยกได้จากกลีเซอรอลดิบให้เป็นกรดไขมันอิสระ และป้อนเข้าสู่ส่วนการผลิตหลักต่อไป นอกจากนี้ ชุดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการฯ จะต้องออกแบบให้สามารถขยายส่วนในระดับ 20 30 เท่า เพื่อออกแบบและสร้างโรงงานต้นแบบซึ่งมีกำลังผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง 100 - 150 ลิตรต่อชั่วโมง (2,400 3,600 ลิตรต่อวัน) ได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุงรายละเอียดในการออกแบบมากนัก
1.1.1 การออกแบบเครื่องมือและอุปกรณ์ในการติดตั้งส่วนการผลิตหลัก
- โครงการฯ ได้ออกแบบและจัดสร้างถังปฏิกรณ์แบบต่อเนื่องสำหรับการผลิตเมทิลเอสเตอร์ขนาด 5 ลิตรต่อชั่วโมง โดยสภาวะที่ทำปฏิกิริยาของปฏิกิริยาเอสเตอริฟิเคชันมีอุณหภูมิในถังปฏิกรณ์ 70 องศาเซลเซียส และใช้เวลาในการทำปฏิกิริยา 60 นาที โดยมีอัตราส่วนโมลาร์ระหว่างเมทานอลกับส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์ม เป็น 8:8:1 และใช้กรดซัลฟูริกเข้มข้น ร้อยละ 98 ในปริมาณ ร้อยละ 1.824 โดยน้ำหนักของที่ป้อนเข้ากรดไขมันปาล์ม
- ผลการออกแบบถังปฏิกรณ์ ได้ออกแบบตัวถังทำด้วย Stainless steel หนา 1 มิลลิเมตร ปริมาตรของถังปฏิกรณ์ บวกกับ Safety Factor หาได้จากปริมาตรของกรดไขมันปาล์มที่ป้อนเข้าภายในปฏิกรณ์ โดยปริมาตรของถังปฏิกรณ์ประมาณ 12.5 ลิตร เป็นถังทรงกระบอกแนวตั้ง ฝาบนของถังเป็นทรงกรวย เพื่อให้การไหลเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวถังและฝาบนเชื่อมต่อด้วยหน้าแปลนซึ่งมีความกว้าง 1 นิ้ว มีช่องป้อนสารตั้งต้นที่ตำแหน่งล่างของถัง ช่องออกสำหรับเมทิลเอสเตอร์จะอยู่ทางด้านบน เพื่อให้สารตั้งต้นที่ป้อนเข้ามามีเวลาในการเกิดปฏิกิริยา นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งวาล์วต่อทางด้านล่างของถังอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อใช้ในการทำความสะอาดถัง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบถังปฏิกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดสร้างถังปฏิกรณ์
1.1.2 การศึกษากระบวนการผลิตไบโอดีเซล
- การศึกษาจลนพลศาสตร์ของปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชันสำหรับการผลิต ไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา HPW/Al2O3 ร้อยละ 10 HSiW/Al2O3 ร้อยละ 10 และ H2SO4/Al2O3 ร้อยละ 10 งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาวิธีการผลิตไบโอดีเซลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านราคากับน้ำมันดีเซลที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการเลือกวัตถุดิบที่มีราคาต่ำ คือ น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil-CPO) ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันอิสระสูง (น้ำมันที่มีปริมาณไขมันอิสระสูงกว่าร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก) มาผลิตไบโอดีเซล โดยมุ่งเน้นในส่วนขั้นตอนการเกิดปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชัน ซึ่งเป็นขั้นตอนการลดกรดไขมันอิสระสูงให้ต่ำกว่า ร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด จึงได้ทำการศึกษาการเกิดปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชัน โดยจะศึกษาด้านจลนพลศาสตร์และปัจจัยในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มกรดไขมันสูง โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาฟอสโฟทังสติกแอซิด (Phosphotungstic Acid-HPW) ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งที่มีฤทธิ์เป็นกรด มีความเสถียร สามารถกำจัดออกจากปฏิกิริยาได้ง่าย ทำให้กรดตกค้างของสารพิษมีน้อยลง อีกทั้งยังลดจำนวนน้ำเสียที่เกิดจากขั้นตอนการทำความสะอาดไบโอดีเซลได้อีกด้วย นอกจากนี้ ตัวเร่งปฏิกิริยายังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงมีความเป็นไปได้ในการที่จะใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชันของกรดไขมันอิสระ ให้เป็นเมทิลเอสเตอร์ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา HPW/Al2O3 ร้อยละ 10 HSiW/Al2O3 ร้อยละ 10 และ H2SO4/Al2O3 ร้อยละ 10
- การผลิตไบโอดีเซลด้วยกระบวนการเอสเทอริฟิเคชันของส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์มโดยใช้ปฏิกรณ์แบบท่อ ซึ่งเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการนำถังปฏิกรณ์แบบท่อมาใช้ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล โดยใช้ส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์ม (Palm Fatty Acid-PFAD) เป็นวัตถุดิบ โครงการนี้ ได้ดำเนินการออกแบบชุดปฏิกรณ์แบบท่อ ประกอบด้วย ถังป้อนส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์มพร้อมระบบอุ่นร้อน ความจุ 10 ลิตร ตัวถังปฏิกรณ์ ความจุ 1 ลิตร หน่วยแยกผลผลิต ความจุ 1.5 ลิตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2552 นอกจากนี้ ยังได้จัดซื้อปั๊มป้อนส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์มและส่วนผสม เมทานอล-กรดซัลฟิวริก ความจุ 6 ลิตร ต่อชั่วโมง เพื่อใช้ในการศึกษานี้ และรองรับการขยายส่วนของชุดอุปกรณ์ ให้สามารถผลิตเมทิลเอสเตอร์จากส่วนกลั่นกรดไขมันปาล์ม ด้วยอัตราการผลิตของชุดต้นแบบ 1 ลิตร ต่อชั่วโมง เป็น 5 ลิตร ต่อชั่วโมงอีกด้วย - การแยกคืนเมทานอลจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง เนื่องจากการผลิตไบโอดีเซลใช้เมทานอลมากกเกินพอเข้าทำปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันกับ ไตรกลีเซอไรด์ในน้ำมันพืช หากมีเมทานอลไม่เพียงพอจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน ไม่สมบูรณ์ ส่วนวิธีการหนึ่งที่ใช้แยกเมทานอลส่วนที่เหลือออกจากเมทิลเอสเทอร์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ คือให้ความร้อนเพื่อระเหยเมทานอลออกจากส่วนผสมโดยใช้เครื่องระเหยและใช้เครื่องควบแน่น เพื่อให้ไอของเมทานอลเปลี่ยนวัฏภาคจากไอเป็นของเหลว ซึ่งโครงการนี้ได้เลือกใช้เครื่องระเหยแบบฟิล์มบาง (Thin Film Evaporator) และเครื่องควบแน่นชนิด Shell-and-Tubes โดยออกแบบเพื่อรองรับอัตราการไหลของส่วนผสมเมทิลเอสเทอร์-เมทานอล 5 ลิตร ต่อชั่วโมง ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า ระบบการระเหยแบบต่อเนื่องมีความเสถียรอยู่ในระดับที่น่าพอใจและเป็นไปตามความคาดหมาย คือจะเข้าสู่สภาสะคงตัว (Steady-State) ที่เวลาน้อยกว่า 30 นาที สภาวะที่เหมาะสมในการระเหยอยู่ที่อัตราการไหล 2.5 ลิตร ต่อชั่วโมง และอุณหภูมิในการระเหย 140 องศาเซลเซียส โดยสามารถเรียกคืนเมทานอลที่มีอยู่ในชั้นของเมทิลเอสเทอร์ได้ ร้อยละ 83 อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการพัฒนาระบบนี้ต่อไป โดยในขณะนี้ได้พิจารณาทางเลือกไว้ 2 แนวทาง คือ การเพิ่มหน่วยระเหยอีก 1 หน่วย โดยต่ออนุกรมเข้ากับหน่วยระเหยเดิม หรือการดำเนินการระเหยที่ความดันต่ำกว่าบรรยากาศ (สุญญากาศ) ซึ่งจะต้องจัดหาปั๊มสุญญากาศและออกแบบระบบท่อใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับอัตราการไหล 5 ลิตร ต่อชั่วโมง ตามเป้าหมายของโครงการและสามารถเรียกคืนเมทานอลจากส่วนผสมได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
1.2 การพัฒนากรรมวิธีวิเคราะห์คุณภาพไบโอดีเซล
ไบโอดีเซลเป็น Methyl หรือ Ethyl ของ Fatty Acid ที่มีคุณภาพทางเชื้อเพลิงคล้ายคลึงกันกับ Petroleum Diesel มาก จนสามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด ถึงกระนั้น Chemical Entities ในองค์ประกอบที่มีความแตกต่างกันระหว่างไบโอดีเซล และ Petroleum Diesel ย่อมส่งผลถึงคุณภาพทางเชื้อเพลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งความหลากหลายของวัคถุดิบที่นำมาผลิตไบโอดีเซล ยังส่งผลถึงคุณภาพดังกล่าวอีกด้วย อนึ่ง ค่าความร้อนจากการเผาไหม้ของไบโอดีเซลขึ้นอยู่กับส่วนผสมหรือองค์ประกอบของ ไบโอดีเซลและองค์ประกอบบางตัว ซึ่งนอกจากจะให้ค่าความร้อนต่ำแล้ว ยังอาจขัดขวางการเผาไหม้หรือให้ผลข้างเคียง (By Product) ที่เป็นพิษ ดังนั้น การวิเคราะห์องค์ประกอบของไบโอดีเซลจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการใช้งาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การวิเคราะห์เชิงปริมาณดังกล่าว จะต้องทำควบคู่กันกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการรับประกันคุณภาพไบโอดีเซลและทำให้ไบโอดีเซลที่ผลิตขึ้นภายในประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันกับประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อเครื่องยนต์ไบโอดีเซลทั้งสมรรถนะ การบำรุงรักษา และอายุการใช้งาน ถึงแม้ว่าในการวัดวิเคราะห์คุณสมบัติเชิงเชื้อเพลิงของไบโอดีเซลจะถูกกำหนดไว้เป็นวิธีมาตรฐานแล้วก็ตาม แต่กรรมวิธีทดสอบเหล่านั้น อาจใช้เวลาในการทดสอบนานหรือมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งไม่เหมาะสมกับการควบคุมคุณภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่องที่โรงงานผลิต การพัฒนาวิธีการทดสอบที่มีความถูกต้องและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าหรือใช้เวลาสั้นกว่า ที่อาจเรียกว่า In-House Method จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า 2. โครงการวิจัยการทดสอบน้ำมันปาล์มแบบต่างๆ ผสมกับน้ำมันดีเซล ในเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการเกษตร และไบโอดีเซลผสมน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่สำหรับยานพาหนะ 2.1 การทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการเกษตรระยะยาว ได้ดำเนินการทดสอบเครื่องยนต์สำหรับการทดสอบชุดแรกจำนวน 4 เครื่อง ความก้าวหน้าของระยะเวลาการทดสอบของเครื่องยนต์ต่างๆ มีดังนี้ - เครื่องยนต์ RT801 (ดีเซล 100%) เดินเครื่องยนต์ทดสอบแล้ว 3,000 ชั่วโมง - เครื่องยนต์ RT802 (ปาล์มลดกัมลดกรด 20% ดีเซล 80%) เดินเครื่องยนต์ทดสอบแล้ว 2,000 ชั่วโมง - เครื่องยนต์ RT803 (ปาล์มลดกัมลดกรด 30% ดีเซล 70%) เดินเครื่องยนต์ทดสอบแล้ว 2,000 ชั่วโมง - เครื่องยนต์ RT804 (ปาล์มลดกัมลดกรด 40% ดีเซล 60%) เดินเครื่องยนต์ทดสอบแล้ว 2,000 ชั่วโมง 2.2 เครื่องยนต์ดีเซลสำหรับยานพาหนะทั่วไป (หัวฉีด) 2.2.1 การทดสอบเครื่องยนต์ระยะสั้น (งานเพิ่มเติม) เป็นการทดสอบบนแท่นทดสอบสมรรถนะที่จัดซื้อมาใหม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบยืนยันความแม่นยำของกระบวนการทดสอบและข้อมูลการทดสอบ โดยในระยะสั้น การเดินเครื่องยนต์ 1 เครื่องด้วยเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลและน้ำมันปาล์มลดกัมลดกรดผสมในน้ำมันดีเซลที่สัดส่วน 20% 30% และ 40% โดยปริมาตร ได้เดินเครื่องทดสอบเสร็จแล้ว 2.2.2 การทดสอบเครื่องยนต์ระยะยาว ได้ดำเนินการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับยานพาหนะทั่วไป (หัวฉีด) แล้วตามระยะเวลาการทดสอบของเครื่องยนต์ต่างๆ ดังนี้ - เครื่องยนต์ 2L ตัวที่ 1 (ดีเซล 100%) เดินเครื่องแล้ว 200 ชั่วโมง รอขึ้นแท่นทดสอบสมรรถนะ - เครื่องยนต์ 2L ตัวที่ 2 (ปาล์มลดกัมลดกรด 20% ดีเซล 80%) เดินเครื่องแล้วแต่ยังไม่ครบ 200 ชั่วโมง - เครื่องยนต์ 2L ตัวที่ 3 (ปาล์มลดกัมลดกรด 30% ดีเซล 70%) รอการทดสอบ - เครื่องยนต์ 2L ตัวที่ 4 (ปาล์มลดกัมลดกรด 40% ดีเซล 60%) รอการทดสอบ 2.3 เครื่องยนต์ดีเซลสำหรับยานพาหนะสมัยใหม่ (คอมมอนเรล) ได้รับบริจาคเครื่องยนต์จำนวน 4 เครื่อง (2500 CC) และอุปกรณ์ประกอบจากบริษัทโตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของเครื่องยนต์เพื่อการทดสอบการเดินเครื่องยนต์ระยะยาว 2.4 การทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการเกษตรระยะยาว ได้ดำเนินการทดสอบเครื่องยนต์จำนวน 4 เครื่อง ด้วยน้ำมันดีเซลและน้ำมันผสมของน้ำมันปาล์มลดกัมลดกรดในน้ำมันดีเซลที่ 20% 30% และ 40% โดยปริมาตร โดยได้ทดสอบทั้งในด้านสมรรถนะเครื่องยนต์ ไอเสีย และการสึกหรอ 3. โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 3.1 โครงการประยุกต์ใช้น้ำมันปาล์มดัดแปรในผลิตภัณฑ์อาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มดัดแปรที่สามารถใช้เป็นไขมันเลียนแบบในผลิตภัณฑ์ไอศครีม และเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ไอศครีมซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยใช้น้ำมันปาล์มดัดแปร โดยโครงการฯ ได้จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือบางส่วน พร้อมทั้งคัดเลือกและเตรียมวัตถุดิบ รวมทั้งดัดแปรน้ำมันปาล์ม โดยขณะนี้ได้ทดลองหาสูตรพื้นฐานของไอศครีม 3 สูตร 3.2 โครงการผลิตโมโนกลีเซอไรด์จากน้ำมันปาล์ม และการใช้ประโยชน์เป็นอิมัลไฟเออร์ในผลิตภัณฑ์อาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดการผลิตโมโนกลีเซอไรด์จากน้ำมันปาล์ม แยก โมโนกลีเซอไรด์ให้บริสุทธิ์ ใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ในการผลิตขนมปัง และใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ในการผลิตไอศครีม โดยเป็นการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตโมโนกลีเซอร์ไรด์โดยใช้สภาวะเดิมเป็นชุดควบคุม และหาทางปรับสภาวะในการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในการผลิตแบบกะ ในขั้นต้นเป็นการศึกษาถึงผลการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ต่างๆ กัน โดยเป็นการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตโมโนกลีเซอไรด์ โดยใช้สภาวะเดิมเป็นชุดควบคุม แล้วหาทางปรับสภาวะในการผลิตเพื่อให้ได้มากขึ้นในการผลิตแบบกะ และศึกษาการแยกโมโนกลีเซอไรด์ที่ผลิตได้ ให้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการตกตะกอนในตัวทำละลายอินทรีย์ที่อุณหภูมิต่ำ 3.3 โครงการผลิตกระดาษจากวัสดุเศษเหลือของสวนปาล์มน้ำมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์ทางใบจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือในการจัดการสวนปาล์ม โดยนำมาศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเป็นกระดาษจากทางใบของปาล์มน้ำมัน รวมทั้งศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติทางกลของกระดาษจากทางใบของปาล์มน้ำมันที่ผลิตขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการผลิตกระดาษจากวัสดุเศษเหลือในสวนปาล์ม เช่น ต้นปาล์มเก่าคุณภาพต่ำซึ่ถูกโค่นทิ้ง เป็นต้น โดยความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จะถูกถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อขยายผลทางเศรษฐกิจต่อไป ขณะนี้ ได้จัดสร้างหม้อต้มสำหรับย่อยชิ้นไม้ เพื่อผลิตเยื่อกระดาษ และทำการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว สำหรับการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของทางใบปาล์มน้ำมัน พบว่าประกอบด้วย ความชื้น เถ้า เยื่อใย เซลลูโลส และลิกนิน อย่างไรก็ดี งานค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากเครื่องคัดแยกเยื่อเกิดขัดข้อง ส่วนงานที่จ้เร่งดำเนินการต่อไป ได้แก่ การศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการฟอกสีเยื่อกระดาษด้วยกระบวนการ Elemental Chlorine Free ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม 3.4 โครงการผลิตคุณสมบัติ และการประยุกต์ใช้เซลลูโลส และอนุพันธ์ของเซลลูโลสจากเส้นใยปาล์ม มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาองค์ประกอบ ชนิด และปริมาณของเส้นใยที่ได้จากเส้นใยปาล์มที่ผ่านการสกัดน้ำมันแล้ว (2) ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดเซลลูโลสจากเส้นใยปาล์มที่ผ่านการสกัดน้ำมันแล้ว (3) พัฒนาเซลลูโลสจากเส้นใยปาล์มในรูปของอนุพันธ์ของเซลลูโลส รวมทั้งศึกษาคุณสมบัติของอนุพันธ์ของเซลลูโลสดังกล่าว (4) ศึกษาความสามารถในการนำเซลลูโลส และอนุพันธ์ของเซลลูโลสที่ผลิตได้จากเส้นใยปาล์มไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ โดยองค์ประกอบเบื้องต้นของเส้นใยปาล์มที่ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงงานอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา พบว่าองค์ประกอบของเส้นใยปาล์มก่อนล้างทำความสะอาดประกอบด้วยเส้นใย ร้อยละ 53.81 ปริมาณกะลา ร้อยละ 14.45 ผงกะลาและเส้นใย ร้อยละ 31.74 และน้ำมัน ร้อยละ 5.01 และหลังจากทำ ความสะอาด พบว่า เส้นใย ร้อยละ 81.28 ปริมาณกะลา ร้อยละ 2.71 ผงกะลาและเส้นใย ร้อยละ 16.01 และน้ำมัน ร้อยละ 4.17 3.5 โครงการผลิต และคุณสมบัติของพอลิเมอร์จากวัสดุเศษเหลือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในการผลิตพอลิเมอร์ ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ สกัดพอลิเมอร์ (เฮมิเซลลูโลส) จากน้ำนึ่งปาล์มโดยตรง กับการผลิตจากเชื้อราทนร้อนสายพันธุ์ที่ผลิตพอลิเมอร์ได้ โดยนำผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ทั้ง 2 แหล่งมาศึกษาคุณสมบัติต่างๆ เพื่อเป็นการหาแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป 3.6 โครงการเก็บเกี่ยวสารมีคุณค่าจากน้ำมันปาล์มดิบ และวัสดุเศษเหลือ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ผลิตสารมีคุณค่า ได้แก่ แคโรทีนอยด์ และโทโคฟีรอลจากน้ำมันปาล์มดิบ และวัสดุเศษเหลือ (2) ศึกษาสมบัติและศักยภาพของสารสกัดดังกล่าว โดยได้ดำเนินการศึกษาสภาวะการสกัดน้ำมันจากกากปาล์ม (ระยะเวลาสกัด สัดส่วนกากปาล์มต่อปริมาตรตัวทำละลายอินทรีย์) หาเปอร์เซ็นผลผลิตของน้ำมันที่สกัดได้ อยู่ในช่วงร้อยละ 8 9 และเมื่อวัดค่าการดูดกลืนแสงของสารสกัดที่ได้จากการสกัดด้วย Soxhlet พบว่ามีค่าสูงกว่าที่ได้จากการแช่ด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ถึง 3 เท่า รวมทั้งได้สกัดน้ำมันจากกากและเส้นใยปาล์ม และศึกษากรรมวิธีสกัดแคโรทีนอยด์ และโทโคฟีรอลจากน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันจากกากปาล์ม และน้ำมันจากเส้นใยปาล์ม
1.2.1 กระบวนการทดสอบแบบกะประมาณของปริมาณกลีเซอไรด์ในไบโอดีเซล โดยกระบวนการมรานส์เอสเทอริฟิเคชันด้วยเตาไมโครเวฟ