โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา
ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้รับที่จำนวน 252 ไร่ 36 ตารางวา ซึ่งนางพเยาว์ และนางสาวผุสนา พนมวัน ณ อยุธยา คชาชีวะ ได้น้อมเกล้าถวายไว้นามมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีถนนตัดผ่าน ตั้งอยู่ระหว่างคลองรังสิต 10-11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีราษฎรเช่าอาศัยและทำนาอยู่ 8 ครอบครัว
พระราชดำริ / พระราชดำรัส
1. ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
โดยที่ทรงมีพระราชประสงค์จะใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงทรงมีพระราชกระแสกับพลเอกเทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ “ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์บริการวิชาการเกษตรรวมทั้งจัดการระบบชลประทาน” และเพื่อมิให้ราษฎรที่เช่าที่ทั้ง 8 รายอยู่เดิมต้องเดือดร้อนจึงให้จัดแปลงที่ดินที่เช่าอยู่ในลักษณะแปลงทฤษฎีใหม่แล้วนำราษฎรทั้ง 8 รายเข้ามาอยู่และทำกิน
สำนักงานเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น จังหวัดปทุมธานี กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร และบริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด ศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์บริการวิชาการเกษตรดังกล่าว โดยยึดแนวพระราชดำริในเรื่องของความประหยัดและเรียบง่าย
2. ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินกิจกรรมจัดทำแปลงสาธิตด้านการเกษตรแบบผสมผสานระหว่างพืช – พืช โดยเน้นที่การทำนาในพื้นที่ทั้งสิ้น 24 ไร่ 1 งาน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรนำไปพัฒนาและปรับปรุงในพื้นที่ของตนเอง
3. ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้ใช้พื้นที่จำนวน 15 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา ที่ตำบลท่าไข่ดำเนินการรวบรวม อนุรักษ์ และผลิตพันธุ์มะม่วงแก้วในระบบเกษตรผสมผสานเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับผู้มีอาชีพเกษตรกรรมทั่วไป
วัตถุประสงค์โครงการ/เป้าหมาย
1. เป็นแหล่งบริการวิชาการด้านการผลิตพืชในรูปแบบจัดทำแปลงตัวอย่างได้แก่ การผลิตข้าวพืชสวนและพืชไร่ ตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสม และเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน
2. เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกร
3. เป็นแหล่งผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผลจำหน่ายเกษตรกร
4. เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน
5. เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์มะม่วงแก้ว
6. เป็นแหล่งผลิตกิ่งพันธุ์มะม่วงแก้ว เป็นพันธุ์พระราชทานแก่เกษตรกร
7. เป็นแหล่งจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
8. แปรรูปผลผลิตทางการทางเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
9. เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเกษตร
ลักษณะโครงการ / กิจกรรม
กิจกรรมในโครงการฯ แบ่งกิจกรรมในโครงการออกเป็นกิจกรรม ดังนี้
- กิจกรรมข้าว จัดทำแปลงสาธิตการผลิตข้าวตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสมในพื้นที่ 65 ไร่ ทั้งฤดูนาปีและฤดูนาปรัง โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและเป็นแปลงตัวอย่างการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรนำไปผลิตใช้เอง หรือจำหน่ายให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน
- กิจกรรมไม้ผล แบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
1) แปลงไม้ผลแบบยกร่องสวน ปลูกไม้ผลหลัก คือไม้ผลที่มีอายุยาวนานให้ผลผลิตช้า พืชที่คัดเลือกมาปลูกเช่น มะม่วง ฝรั่ง และกระท้อน เป็นต้น
2) ไม้ผลตามคันคูน้ำ เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ปลูกมะเฟืองทับทิม และกล้วย ตามคันคูน้ำรอบบริเวณโครงการฯเพื่อความหลากหลายและถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาและขยายพันธุ์ให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปเลือกนำไปพิจารณาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง
- กิจกรรมพืชผัก เป็นการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ ตลอดฤดูกาลโดยยึดถือความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักโดยทำการผลิตทั้งผักกินใบ เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ฮ่องเต้ ผักกินยอด เช่น ชะอม ผักหวาน และผักกินผล เช่น มะเขือ บวบ แตงกวา เป็นต้น โดยหมุนเวียนการปลูกผักแต่ละชนิดตามฤดูกาล
- กิจกรรมปาล์มน้ำมัน เป็นแปลงสาธิตการปลูกปาล์มน้ำมันตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสม และจำหน่ายผลผลิตปาล์มน้ำมัน
- กิจกรรมเกษตรผสมผสาน เป็นการดำเนินการผสมผสานระหว่างพืช –สัตว์-ประมง ลักษณะ “เกษตรยังชีพ” เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัดโดยยึดหลัก “อยากกินอะไร ก็ปลูกอย่างนั้น ที่เหลือจึงนำไปขาย” โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 550 ตารางเมตร ปลูกทั้งผักกินใบ กินยอดและกินผล ซึ่งบริเวณตามแนวขอบรั้วได้ปลูกพืชในลักษณะรั้วกินได้และรั้วใช้ประโยชน์ เช่น ชะอม ดอกแค มะขาม อ้อยคั้นน้ำ อัญชันและชมจันทร์ นอกจากนี้ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง ส่วนในเรื่องการบำรุงดิน ยังเลี้ยงไส้เดือนเพื่อปรับปรุงสภาพดิน ตลอดจนเลี้ยงปลาชนิดต่างๆและไก่ไข่เพื่อเสริมสร้างรายได้อีกด้วย
- กิจกรรมแปรรูป เป็นการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตร และสมุนไพรที่คุณภาพอยู่ในระดับรองลงมาโดยนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวและเครื่องสำอาง ซึ่งเครื่องสำอางได้รับเลขที่จดแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย
- กิจกรรมการตลาดและจัดจำหน่าย จัดหาตลาดในการจำหน่ายผลผลิต รวมถึงออกร้านประชาสัมพันธ์ตามคำเชิญของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แล้วมีการพัฒนาผลผลิตออกสู่ตลาดสากลภายใต้มาตรฐาน GAP
- กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชและการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรแก่ กลุ่มแม่บ้าน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปในรูปแบบจัดฝึกอบรม ประชุม สัมมนาแก่เจ้าหน้าที่ จัดนิทรรศการ จัดพิมพ์เอกสารเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และต้อนรับคณะศึกษาดูงาน
- บริการพัฒนา (Social Services) เป็นการช่วยเหลือและติดตามผลของเกษตรกร ที่ได้นำองค์ความรู้ที่รับจากทางศูนย์ฯ หรือช่วยการเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตรแล้วนำกลับไปปรับใช้ให้เข้ากับการดำรงชีวิตของตนเองเพื่อให้คงดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
สถานที่ตั้งโครงการเเละข้อมูลติดต่อ
ที่ตั้งโครงการ : ศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา เลขที่ 2 หมู่ 2 ถนนเลียบคลอง 11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12150
โทรศัพท์ : 02-997-4406
โทรสาร : 02-997-4407
facebook : ศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
เลขที่ 2 หมู่ 2 ถนนเลียบคลอง 11 ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12150