- หน้าแรก
- 30 ปีมูลนิธิชัยพัฒนา
- 30 เรื่องพิเศษ
- เรื่อง "ถุงเงิน"
เรื่อง "ถุงเงิน"
ย้อนกลับไปวันแรก ๆ ที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยตามเสด็จไปยังพื้นที่ทรงงานจังหวัดนราธิวาส พระองค์ทรงเรียกหา “ถุงเงิน” จนเกิดความงุนงงไปตาม ๆ กัน
“พอดีที่ปักษ์ใต้มีวัวชนอยู่ตัวหนึ่งชื่อถุงเงิน มหาดเล็กคิดว่าทรงอยากทอดพระเนตรวัวชน เลยทูลว่าวันนี้ชนอยู่ที่สงขลา เดี๋ยวชนเสร็จแล้วจะใส่รถมา พระองค์รับสั่งว่าไม่ใช่วัว พร้อมชี้มาที่ผม ผมจึงถูกเอ็ดว่าไปยืนไกลทำไม วันนั้นถึงได้รู้ว่าที่ยืนของผมควรยืนอยู่ใกล้พระองค์”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) คือ “ถุงเงิน” ผู้มีเงินอยู่สองกระเป๋า กล่าวคือ กระเป๋าหนึ่งจากสำนักงาน กปร. ซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารงานและงบประมาณแบบราชการ ใช้สำหรับงานที่สามารถรอได้เช่นการสร้างถนนหนทางหรืออ่างเก็บน้ำ ส่วนอีกกระเป๋าเป็นของ “มูลนิธิชัยพัฒนา” มูลนิธิที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ด้วยต้องพระราชประสงค์ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที
“ความทุกข์ของประชาชนไม่ต้องรอเบิกใครเลย เพราะพระองค์ทรงสั่งการเอง สั่งเดี๋ยวนั้น ไปเดี๋ยวนั้น” ดร.สุเมธยกตัวอย่างเหตุการณ์ปี 2536 เมื่อโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา “กลางดึกผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า พบผู้ประสบภัยติดอยู่ในซากตึกแต่เข้าไม่ถึง ต้องการเครื่องสกัดซีเมนต์แบบเคลื่อนที่จำนวนหนึ่ง คิดเป็นเงินราว 3 แสนบาท ผมตัดสินใจตอบตกลง ครั้งนั้นช่วยชีวิตครูไว้ได้ ถือว่าภารกิจคุ้มค่าและสัมฤทธิผล เพราะชีวิตคนตีค่าไม่ได้”
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิชัยพัฒนาที่ก่อกำเนิดจากความห่วงใยของพระราชา ได้ช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ให้ได้รับประโยชน์อย่างทันท่วงทีตามพระราชประสงค์...นับครั้งไม่ถ้วน