- หน้าแรก
- 30 ปีมูลนิธิชัยพัฒนา
- 30 เรื่องพิเศษ
- เรื่อง สอนควายไถนา
เรื่อง สอนควายไถนา
เดี๋ยวนี้จะเปรียบความฉลาดของใครกับ “กระบือ” คงต้องคิดใหม่
เพราะกระบือยุค 4.0 เขาตบกีบเข้าโรงเรียนกันแล้ว
“กาสรกสิวิทย์” โรงเรียนประจำสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนา ทำงานด้านเกษตรกรรม รวมทั้งสอนคนเลี้ยงกระบือให้ทำงานเข้าขากับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาตามหลัก “ภูมิสังคม” กล่าวคือ พัฒนาโดยคำนึงถึงลักษณะของพื้นที่กับวิถีชีวิตที่อยู่รอบๆ และไม่ได้ทำให้สภาพเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเดิม
“มีคนถวายที่ดินในจังหวัดสระแก้วแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นที่ดินผืนงามแต่เป็นที่ลุ่ม คือน้ำท่วม เราคิดว่าเมื่อน้ำท่วมก็ต้องกั้นทำเขื่อนจึงจะทำเกษตรได้ แต่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีวิธีดัดแปลงได้เร็วมาก มีรับสั่งว่าจะขุดทำไม ให้ทำกิจกรรมในพื้นที่น้ำท่วม เลี้ยงควายดีไหม ภาษาฝรั่งเรียกว่า Water Buffalo แสดงว่าควายอยู่ในน้ำได้ จะได้ไม่ต้องไปฝืนธรรมชาติ” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่าถึงที่มา
ดังนั้นแทนที่จะขี่ช้างจับตั๊กแตนด้วยการสูบน้ำออก เมื่อสภาพภูมิประเทศตรงนั้นเอื้อให้เลี้ยงกระบือ ก็เลี้ยงกระบือ ปี 2552 กรมสมเด็จพระเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ หลักสูตรการเรียนการสอน 10 วัน มีกระบือผู้ให้ความรู้จำนวน 25 ตัว ส่วนกระบือผู้เรียนรู้จะฝึกรุ่นละ 5 ตัว ปีละ 10 รุ่น ใน 1 ปีจึงจะมีกระบือสำเร็จการศึกษารวม 50 ตัว
รุ่นแรก กระบือติด F ไม่ผ่านหลักสูตร 1 ตัว เพราะไม่ยอมเข้าห้องเรียน
บางรุ่น กระบือจบหลักสูตร แต่คนเลี้ยงกระบือไม่จบ
บางคน ไม่รู้ความหมายของ “กาสร” นึกว่าเป็นโรงเรียนประจำทั่วไป อยากจะฝากลูกเข้าเรียน
ส่วนใครไม่ได้เลี้ยงกระบือ หรือมีกระบือเป็นลูกเลี้ยง แต่อยากทดลองเป็นชาวนาไถนากับกระบือ ก็แจ้งไปที่กาสรกสิวิทย์ได้
อีกหนึ่งจุดเช็คอินแปลกใหม่ สนุกสุขใจแน่นอน