- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการศูนย์สาธิต
- โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่ บ้านโนนสมบูรณ์ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่ บ้านโนนสมบูรณ์ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่บ้านโนนสมบูรณ์
ตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ความเป็นมา
พระครูสังฆรักษ์ (แก้ว วิโรจโน) วัดป่ามหาวีโรเบญจพรรณวนาราม บ้านหนองโจด ตำบลแคน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่ ตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 26 ไร่ ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
แนวพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริรับที่ดินเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และพระราชทานแก่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการใช้ทำประโยชน์ในที่ดินต่อไป
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์วิจัยยางหนองคาย
ผลการดำเนินงาน
1. ผลการดำเนินงาน
- กิจกรรม 1 ปลูกยางพาราพันธุ์ดี และพันธุ์แนะนำของสถาบันวิจัยยาง ได้แก่ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 RRIM600 BPM24 PB311 PB235 PB260 RRIT404 RRIT401 และ RRIT402
- กิจกรรม 2 ปลูกพืชเสริมรายได้ในระหว่างแถวยาง ได้แก่ สับปะรด หวาย กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง หญ้าเลี้ยงสัตว์ และพืชผักต่างๆ ตามฤดูกาล เป็นต้น เพื่อเสริมรายได้ก่อนกรีดยาง
- กิจกรรม 3 เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงปลาที่มีอยู่เดิม โคเนื้อ ไก่พื้นเมือง เป็ด ห่าน และสุกร
- กิจกรรม 4 ทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุในพื้นที่โครงการฯ และจากมูลสัตว์ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างของดินในพื้นที่โครงการ และเป็นแหล่งศึกษาให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักใช้เอง
2. การวิจัยและพัฒนา เริ่มปลูกยางพาราในเดือนมิถุนายน 2548 โดยใช้ระยะปลูก 3 x 7 เมตร ปลูกทดสอบยางพันธุ์ดีจำนวน 9 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ สถาบันวิจัยยาง 251 พันธุ์ RRIM 600 และ พันธุ์ BPM 24 (เป็นพันธุ์ยางในกลุ่มที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง) พันธุ์ PB 235 พันธุ์ PB 260 และพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 404 (เป็นพันธุ์ยางในกลุ่มที่ให้ผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้สูง) พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 401 และ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 402 (เป็นพันธุ์ยางในกลุ่มที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง) และพันธุ์ PB 311 (เป็นพันธุ์ยางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่โตเร็วและให้ผลผลิตน้ำยาง สูง) ในงานทดสอบพันธุ์ยางนี้จะใช้พันธุ์ RRIM 600 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดในประเทศไทย รวมต้นยางทั้งหมดจำนวน 1,123 ต้น ในปี 2553 ต้นยางมีอายุ 4 ปีครึ่ง พันธุ์ PB 311 มีการเจริญเติบโตดีที่สุดโดยมีขนาดรอบลำต้นเฉลี่ย 33.4 เซนติเมตร รองลงมาได้แก่พันธุ์ BPM24 พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 402 และพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 มีขนาดรอบลำต้นเฉลี่ย 30.5 29.2 และ 29.1 ตามลำดับ คาดว่าจะสามารถเปิดกรีดได้มากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2555 โดยในปีแรกจะได้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 160,000 บาท
3. การขยายผล จัดการฝึกอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการบำรุงรักษาสวนยาง และ หลักสูตรการกรีดยาง หลักสูตรละ 1 รุ่น นอกจากนี้มีการถ่ายทำสารคดีด้านการเกษตรผ่านทางเคเบิลทีวี มีการ จัดนิทรรศการภายในโครงการฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาของเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปที่เข้าเยี่ยมชม มีการผลิตและขยายพันธุ์ผักหวานบ้านเพื่อใช้ปลูกภายในโครงการฯ
การดำเนินงานในระยะต่อไป
นอกจากการดูแลรักษาต้นยางเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในอนาคตแล้ว จะทำการคัดเลือกพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดอื่นให้มีความหลากหลาย นำมาปลูกทดแทนต้นยางที่หักโค่นและตาย พร้อมทั้งคัดเลือกพันธุ์พืชแซมยางที่สามารถเติบโตได้โดยใช้แสงแดดน้อย โดยเฉพาะพืชกินใบประเภท พืชผักพื้นบ้าน ผักติ้ว บัวบก ผักหวาน ฯลฯ หรือไม้ดอกไม้ประดับ มาทดลองปลูก เพื่อนำผลมาถ่ายทอดสู่ผู้ที่สนใจต่อไป