- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการศูนย์สาธิต
- (ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเท้าพ่อแห่งแผ่นดิน)ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
(ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเท้าพ่อแห่งแผ่นดิน)ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ความเป็นมา
นางสาวจิราพร จาตุรัตน์ และนางสาว ดวง พร ยังมีสุข เกษตรกรชุมชนตำบลเหมืองใหม่ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเป็นสวนผลไม้จำนวน 2 แปลง พื้นที่รวม 4 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา ในตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 โดยศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลเหมืองใหม่ (สอช. ต.เหมืองใหม่) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของชุมชน และผู้นำชุมชนภาคส่วนต่างๆ ของชุมชนเหมืองใหม่ เป็นผู้บริหารและประสานการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ
{xtypo_quote}พระราชดำริ
พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ตามข้อเสนอของชุมชนเหมืองใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชนให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรแบบพอเพียง โดยให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและที่ดินอย่างสูงสุดขยายผลและเผยแพร่ผลสำเร็จไปสู่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง{/xtypo_quote}
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน ตำบลเหมืองใหม่
ผลการดำเนินงาน
โครงการ ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นการดำเนินการที่เริ่มจากชุมชน และชุมชนเป็นผู้วางแผน และดำเนินการ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้พัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินงานที่เรียบง่าย และประหยัด เพื่อประโยชน์ของชุมชน ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดอื่นๆ
โดยในปี 2549 ชุมชนได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ในช่วงปี 2550-2552 ประกอบด้วยแผนงานหลัก 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานทั่วไป เป็นแผนงานซึ่งส่วนใหญ่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ และจะได้นำมาจัดดำเนินการให้เป็นระบบ สร้างคุณค่าทางความคิด การปฏิบัติ และพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ด้านการพัฒนาการเกษตร ด้านการพัฒนาอาชีพนอกภาคเกษตร ด้านการออมทรัพย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ และด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยในปี 2549 ชุมชนได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- การจัดเวทีเพื่อคัดเลือกครอบครัวเกษตรผสมผสานปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5 ครอบครัว เพื่อเป็นเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้ฯ
- จดทะเบียนกลุ่มที่เข้มแข็งเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มขนมไทยโบราณ กลุ่มน้ำพริกแม่บ้านเทิดไท กลุ่มเพาะเห็ด และกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล
- จัดการให้ความรู้ จัดสัมมนาในชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แผนงานการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นแผนพัฒนาพื้นที่เครือข่าย และพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน และผู้สนใจอื่นๆ ได้แก่ การจัดระบบการจัดการดินและน้ำในพื้นที่ การก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ และการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตร เป็นต้น
แผนการบริหารจัดการภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ฯ และกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ฯ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
การดำเนินงานในระยะต่อไป
ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลเหมืองใหม่ (สอช. ต.เหมืองใหม่) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของชุมชน และผู้นำชุมชนภาคส่วนต่างๆ ของชุมชนเหมืองใหม่ เป็นผู้บริหารและประสานการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ โดย ในการดำเนินงานชุมชนยึดหลักการแสวงหารายได้และพึ่งพาตนเองในระยะยาว ทั้งนี้ ในระยะแรก อาจต้องพึ่งงบประมาณ และความช่วยเหลือจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ จากภาคราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และมูลนิธิชัยพัฒนา
โดย ในปี 2550 จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และพื้นที่เครือข่าย โดยจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ และจัดระบบน้ำและดินให้เหมาะสมกับการเกษตร ปลูกพืชล้มลุกเสริมพืชยืนต้นและทำสวนผสม และเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ ภายในพื้นที่โครงการฯ นอก จากนี้ จะเป็นการดำเนินการสร้างความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของชุมชมตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดการฝึกอบรม เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการจัดการรวมกลุ่มการบริหารจัดการ การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการตลาด ความเป็นผู้นำวิทยากรชุมชน และการฝึกอบรมวิชาชีพ รวมทั้งรับการอบรมจากวิทยากรภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม