- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการศูนย์สาธิต
- โครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์
โครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์
โครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน
อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
ความเป็นมา
นางบุษรีรัตน์ เชื้ออินทร์ มีความประสงค์น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน โฉนดเลขที่ 18796 ตั้งอยู่ตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 65 ตารางวา ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อร่วมโครงการตามพระราชดำริ
แนวพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับโอนที่ดินของ นางบุษรีรัตน์ เชื้ออินทร์ ที่ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน รวมเนื้อที่ จำนวน 11 ไร่ 65 ตารางวา โฉนดเลขที่ 18796 ตั้งอยู่ตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และอำเภอรัตนบุรี
ผลการดำเนินงาน
1. ผลการดำเนินงาน
- กิจกรรม 1 ผลิตข้าวอินทรีย์ ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ บนพื้นที่ 4 ไร่ ใช้วิธีการตกกล้าปักดำ ปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันโรคและแมลงโดยการไถกลบตอซัง ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ และ น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงในการดูแลรักษา ส่งผลให้ข้าวมีการเจริญเติบโตดี
- กิจกรรม 2 พืชหลังนา ปลูกผักสวนครัว พื้นที่ 2 ไร่ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง ผักบุ้ง เป็นต้น ใช้ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงในการดูแลรักษา ส่งผลให้พืชผักมีการเจริญเติบโตดี และพื้นที่อีก 2 ไร่ หว่านถั่วพร้า เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน
- กิจกรรม 3 ปศุสัตว์ เลี้ยงไก่พื้นบ้านและเป็ดเทศรวม 70 ตัว โดยใช้เศษผัก รำ และข้าวปลายเป็นอาหาร มีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพในคอกและผสมน้ำให้ไก่กิน ไก่มีการเจริญเติบโตดี เลี้ยงกระบือ 2 ตัว เพื่อใช้แรงงานและใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์ เลี้ยงหมูป่า(หมูหลุม) พ่อพันธุ์ 2 ตัว แม่พันธุ์ 4 ตัว และลูกหมู 40 ตัว ใช้รำ เศษผัก และต้นกล้วยเป็นอาหาร ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำให้หมูกิน และฉีดพ่นเพื่อกำจัดกลิ่น หมูป่ามีการเจริญเติบโตดีมาก เกษตรกรสนใจมากและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
- กิจกรรม 4 ประมง เลี้ยงกบ 500 ตัว ใช้อาหารเม็ด และไฟล่อแมลงเป็นอาหาร กบมีการเจริญเติบโตดี เลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน 2 บ่อ ได้แก่ ปลานิล 6,000 ตัว และปลาตะเพียน 6,000 ตัว ผลิตปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ สร้างปุ๋ยคอกในบ่อและเศษพืชเป็นอาหาร ปรับสภาพน้ำโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ส่งผลให้ปลามีการเจริญเติบโตดี เลี้ยงปลาในนาข้าว 2,000 ตัว ได้แก่ ปลาดุกนา และ ปลาตะเพียน ปลาเจริญเติบโตดี เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในกระชัง และบ่อซีเมนต์ 2,000 ตัว ใช้อาหารเม็ด และไฟล่อแมลงเป็นอาหาร ปลามีการเจริญเติบโตดี
- กิจกรรม 5 ไม้ผล ได้แก่ มะม่วง มะขามเปรี้ยว มะพร้าว ขนุน ฝรั่ง กล้วย มะยม มะยงชิด มะเฟือง มะกอกน้ำ พุทรา เป็นต้น ใช้ปุ๋ยชีวภาพและสมุนไพรในการปรับปรุงดิน ป้องกันโรคและแมลง ปลูกกล้วย และฝรั่งเป็นพืชรอง สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี และสามารถขยายพันธุ์ไม้ผลได้ จำนวน 3,000 กิ่ง ไม้ผลมีการเจริญเติบโตในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ ไม้ผลหลักที่เริ่มทยอยออกผลผลิตแล้ว ได้แก่ มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม
- กิจกรรม 6 ไม้ยืนต้น ได้แก่ ชะมวง ขี้เหล็ก สะเดา และคูณ เป็นต้น กำลังอยู่ในช่วงระยะการเจริญเติบโต
- กิจกรรม 7 พืชผักสวนครัวและสมุนไพร ได้แก่ มะกรูด มะนาว มะตูม มะรุม ผักติ้ว ผักเม็ก ข่า ตะไคร้ ชะอม พริก โหระพา มะเขือ และปลูกไผ่หวานเพิ่ม 60 ต้น ซึ่งเริ่มทยอยแตกหน่อบ้างแล้ว ใช้ปุ๋ยชีวภาพในการดูแลรักษาและปรับปรุงบำรุงดิน พืชผักสวนครัวและสมุนไพรมีการเจริญเติบโตดี
- กิจกรรม 8 การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ผลิตปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ 5 ตัน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการฯ และ ผลิตปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ 2,000 ลิตร ใช้เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรและใช้ในกิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการฯ
- กิจกรรม 9 ขยายพันธุ์หญ้าแฝก เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรและปลูกหญ้าแฝกซ่อมแซม
2. การขยายผล ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรเครือข่ายนำร่องระดับตำบล 12 ตำบล และขยายผลสู่เกษตรกรระดับหมู่บ้าน 162 หมู่บ้าน รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายนำร่องผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์แปรรูปของอำเภอรัตนบุรี โดยมีโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นศูนย์กลางการพัฒนา
การดำเนินงานในระยะต่อไป
จะดำเนินการใช้พื้นที่โครงการผลิตข้าวอินทรีย์และข้าวพันธุ์ดี เพื่อขยายพันธุ์ไปสู่เกษตรกร เนื่องจากเป็นนโยบายระดับจังหวัดของจังหวัดสุรินทร์ ส่วนการทำนาปรังของเกษตรกรในบริเวณพื้นที่โครงการ จะจัดให้มีการรวมกลุ่มและประสานงานกับชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ และจะปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน