- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการศูนย์สาธิต
- โครงการสาธิตการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็ม ต.ตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา
โครงการสาธิตการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็ม ต.ตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา
โครงการสาธิตการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็ม
ตำบลตาจั่น อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
ความเป็นมา
นางสุวรรณ โพธิ์อุทัย ราษฎรบ้านหัวแหลม ตำบลตาจั่น อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ จำนวน 5 ไร่ ต่อมาราษฎรที่มีที่ดินโดยรอบพื้นที่ จำนวน 7 ราย มีความประสงค์ที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมขึ้นอีก รวมจำนวนเนื้อที่ 24 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา
พระราชดำริ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับที่ดินดังกล่าว และพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำโครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเค็ม เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง ที่ทำการเกษตรไม่ได้ผลเนื่องจากประสบปัญหาดินเค็ม
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง
ผลการดำเนินงาน
1. ผลการดำเนินงาน
- กิจกรรมที่ 1 การปลูกข้าว 8.5ไร่ ปลูกข้าวมะลิ105 ทั้งหมดโดยวิธีปักดำ เก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553
-กิจกรรมที่ 2 ไม้ผล ดูแลและบำรุงไม้ผลเดิม ได้แก่ ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม กล้วยน้ำว้า ละมุด มะกอกน้ำ มะยม มะขามเทศ และพืชที่ปลูกเสริมได้แก่ มะละกอ ซึ่งไม้ผลทุกชนิดให้ผลเก็บจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และได้ปลูกมะพร้าวพันธุ์สหวีของกรมวิชาการเกษตร ปลูกมะรุม มะนาวในวงบ่อ โดยจะปลูกครบ 45 ต้นภายในปี 2553
-กิจกรรมที่ 3 พืชไร่ ปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ในพื้นที่ 2 งาน
-กิจกรรมที่ 4 พืชผักและพืชเลื้อย ปลูกบวบ ตะไคร้ ชะอม มันเทศ แซมไม้ผล และขอบบ่อ รวมทั้งปลูกผักตามฤดูกาล
- กิจกรรมที่ 5 โรงเพาะเห็ด อยู่ระหว่างการจัดสร้างโรงเพาะเห็ด
- กิจกรรมที่ 6 เรือนเพาะชำ เพาะชำไม้ต่างๆ เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ได้แก่ มะรุม มะพร้าวน้ำหอม มะละกอ กิ่งตอนฝรั่ง กิ่งตอนมะขามเทศ เป็นต้น
- กิจกรรมที่ 7 ด้านปศุสัตว์ ได้เลี้ยงหมูหลุมจำนวนสามตัวเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจ เลี้ยงวัว 3 ตัว และเลี้ยงไก่พื้นบ้านประมาณ 40 ตัว ได้มอบกระบือ 4 ตัว ให้ชาวบ้านที่ยากจนนำไปเลี้ยง ปีแรกลูกที่ได้ให้ คนเลี้ยง ส่วนปุ๋ยคอกให้นำมาใช้ในโครงการฯ และปีต่อไปลูกกระบือที่ได้จะแบ่งครึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับโครงการฯ
-กิจกรรมที่ 8 ด้านประมง เลี้ยงปลานิล จำนวน 8,000 ตัว ให้อาหารเสริม ได้แก่ รำ และเศษผักต่างๆ เลี้ยงกบ และปลาดุกเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ โดยปีนี้เลี้ยงได้ 2 รุ่น
-กิจกรรมที่ 9 การทำน้ำหมักชีวภาพ ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ และสารไล่แมลง
2. การวิจัยและพัฒนา ได้ทดลองใช้สารปรับปรุงดินในนาข้าวจำนวน 1.6 ไร่ ซึ่งบริษัท Neture Maxs มอบให้เพื่อทดลอง รวมทั้งได้ทดลองปลูกมะพร้าวพันธุ์สหวี และอ้อยคั้นน้ำ
3. การขยายผล พันธุ์ไม้ที่ผลิตได้ในโครงการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร และผู้มาศึกษาดูงานเพื่อไปปลูกต่อ บางส่วนก็ให้ชาวบ้านบริเวณเขตโครงการฯนำไปปลูก อำเภอคงได้ขอใช้สถานที่เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรเป็นประจำ รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานในระยะต่อไป
การผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมีในพื้นที่ดินเค็มจะงดเว้นการใช้สารเคมีทุกชนิด และนำปุ๋ยหมักชีวภาพมาฉีดพ่นแทนการใช้ปุ๋ยยูเรีย พร้อมทั้งจะพิจารณาคัดเลือกชนิดพืช ที่มีความเหมาะสมมาปลูกในดินเค็ม เพิ่มเติมและนำผลการคัดเลือกพืชที่นำมาปลูกในช่วงปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ เช่น ข้าวหอมมะลิ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยน้ำว้า และมะขามเทศ ขยายออกสู่ราษฎร