- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการศูนย์สาธิต
- โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่ บ้านติ้ว อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่ บ้านติ้ว อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
โครงการสาธิตการพัฒนาพื้นที่ บ้านติ้ว
ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ความเป็นมา
นายทนันชัย ตรังคานุกูลกิจ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินดังกล่าวให้มูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
แนวพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้ประโยชน์ โดยคณะทำงานกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เน้นการพัฒนาที่ดินในลักษณะแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เป็นแปลงตัวอย่างและทางเลือกสำหรับเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงได้ศึกษา และสามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตรต่อไป
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี
ผลการดำเนินงาน
1. ผลการดำเนินงาน
- กิจกรรม 1 แปลงนาสาธิต พื้นที่จำนวน 5 ไร่ 3 งาน ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ปักดำ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนธันวาคม แต่เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน 2553 อาจทำให้ผลผลิตไม้ได้ผลเท่าที่ควร
- กิจกรรม 2 พืชหลังนา พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน ดำเนินการปลูกฟักทอง จำนวน 2 ไร่ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 และ ปลูกข้าวโพดเทียน จำนวน 2 ไร่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553
- กิจกรรม 3 แปลงวนเกษตร พื้นที่จำนวน 5 ไร่ ปลูกไม้ใช้สอย เช่น ไม้สักทอง จำนวน 400 ต้น ประดู่ป่า จำนวน 350 ต้น ไผ่กินหน่อ จำนวน 100 ต้น ขี้เหล็ก สะเดา เพกา พืชสมุนไพรต่างๆ และพืชผัก สวนครัว ได้แก่ ข่ากินหน่อ และชะอม เป็นพืชแซม นอกจากนี้ ใช้พื้นที่ในแปลงวนเกษตรเลี้ยงสัตว์ร่วมด้วย ได้แก่ การเลี้ยงหมูหลุม จำนวน 2 โรงเรือน และเลี้ยงโค กระบือ จำนวน 1 โรงเรือน
- กิจกรรม 4 ไม้ผล ปลูกเพื่อเป็นแปลงขยายพันธุ์สู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 6 ไร่ ปลูกไม้ผลผสมผสาน จำนวน 11 ชนิด จำนวน 567 ต้น ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ลำไยพันธุ์อีดอ กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย ส้มโอพันธุ์ขาวทองดี ฝรั่ง แก้วมังกร มะนาว และมะพร้าว ระหว่างแถวปลูกพืชแซมในพื้นที่ก่อนที่ไม้ผลจะให้ผลผลิต ได้แก่ อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6
- กิจกรรม 5 พืชผักสวนครัว ปลูกในแปลงไม้ผลผสมผสานจำนวน 1 งาน ได้แก่ โหระพา มะเขือเปราะ และถั่วฝักยาว
- กิจกรรม 6 หมูหลุม จำนวน 2 โรงเรือน เพื่อผลิตลูกสุกรพันธุ์ดีสู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง และผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแปลงไม้ผล และเป็นจุดสาธิตการทำหมูหลุมให้แก่เกษตรกรได้เรียนรู้สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของเกษตรกร โดยเลี้ยงหมู 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ภูพาน จำนวน 2 ตัว และหมูป่า จำนวน 6 ตัว ปัจจุบันสามารถผลิตลูกหมูพันธุ์ภูพานได้จำนวน 7 ตัว
- กิจกรรม 7 เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 4 ตัว และกระบือ จำนวน 2 ตัว เพื่อขุนขาย เป็นการเพิ่มรายได้แบบผสมผสานในฟาร์ม นอกจากนี้มูลสัตว์เป็นผลพลอยได้นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และนำไปใช้ประโยชน์ ในแปลงไม้ผลภายในโครงการ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ส่วนกระบือได้นำไปให้เกษตรกรเลี้ยง โดยจะแบ่ง ลูกให้เมื่อกระบือตกลูก
- กิจกรรม 8 เลี้ยงไก่พื้นเมือง จำนวน 25 ตัว เริ่มเลี้ยงเมื่อเดือนมกราคม 2553 มีพ่อพันธุ์ 5 ตัว แม่พันธุ์ 20 ตัว เลี้ยงเพื่อผลิตลูกไก่พันธุ์ดีสู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เป็นการเพิ่มรายได้ภายในฟาร์ม และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการ
- กิจกรรม 9 เลี้ยงเป็ดเทศ จำนวน 50 ตัว เริ่มเลี้ยงเดือนมกราคม 2553 เพื่อผลิตลูกเป็ดพันธุ์ดี สู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เป็นการเพิ่มรายได้ภายในฟาร์ม ผลพลอยได้คือปุ๋ยอินทรีย์ สามารถนำไปใช้ในโครงการได้ ขณะนี้กำลังจำหน่ายผลผลิต และคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ไว้เลี้ยงรุ่นต่อไป
- กิจกรรม 10 เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ รวม 1,000 ตัว เริ่มเลี้ยงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2553 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ของเกษตรกรและผู้สนใจในการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง และก่อให้เกิดรายได้
- กิจกรรม 11 เลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน ขนาด 1 ไร่ จำนวน 2, 000 ตัว เริ่มเลี้ยงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2553 ปลาที่เลี้ยงได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ และปลาสวาย คาดว่าจะจำหน่ายผลผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2553
- กิจกรรม 12 โรงเพาะเลี้ยงเห็ดจำนวน 1 โรงเรือน ขนาด 4X8 เมตร
- กิจกรรม 13 โรงเรือนผลิตปุ๋ยอัดเม็ด
- กิจกรรม 14 โรงสีข้าวชุมชน เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรผู้สนใจและบริการสีข้าวให้แก่ชุมชน ผลผลอยได้ รำและปลายข้าวจากการสีข้าวใว้ใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงสัตว์ในโครงการ สามารถลดต้นทุนในการจัดชื้ออาหารในกิจกรรมเลี้ยงสัตว์
2. การขยายผล มีการจัดฝึกอบรมเกษตรกรในบริเวณพื้นที่โครงการในรุ่นที่ 1 จำนวน 40 ราย หลักสูตรการขยายพันธุ์พืชและการผลิตถั่วลิสงในวันที่ 25 มิถุนายน 2553 เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ของตนเอง
การดำเนินงานในระยะต่อไป
จะทำการขยายผลการทดลองทั้งด้านข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก ประมง ที่ประสบผล สำเร็จออกสู่ราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งจะทำการแบ่งพื้นที่บางส่วน ให้เกษตรกรที่มีความขยันแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เข้ามาดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยให้ดำเนินการตามแนวทางของมูลนิธิชัยพัฒนา และเก็บข้อมูล พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการบางส่วนด้วย