- หน้าแรก
- แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙
- วัดที่ขอใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- วัดสระแก้ว ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
วัดสระแก้ว ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
วัดสระแก้ว ตำบลเด่นใหญ่
อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
วันที่ได้รับพระราชานุมัติ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕
เรื่องเดิม
พระอธิการมนูญ จิรสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ขออนุญาตนำแบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร นำไปใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอุโบสถที่วัดสระแก้ว ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการประกอบศาสนพิธีของวัด
ข้อเท็จจริง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของวัดสระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท โดยได้ไปพบกับเจ้าอาวาสของวัดสระแก้ว เพื่อรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียด ดังนี้
- วัดสระแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ ๖๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นวัดเก่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่เดิมเป็นที่พักสงฆ์ ต่อมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือรับรองการตั้งวัดสระแก้ว ตามข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๒
วัดสระแก้วอยู่ห่างจากอำเภอหันคาประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๘ กิโลเมตร สามารถเดินทางจากถนนใหญ่ โดยเข้ามาทางบ้านเด่นใหญ่ เลยโรงพยาบาลหันคามาประมาณ ๔ กิโลเมตร
๒. วัดสระแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๓ งาน ๑๕ ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๙๒๓ เล่ม ๓๒๐ หน้า ๒๓ เลขที่ดิน ๘๙ หน้าสำรวจ ๑๑๓๖ โดยมีพระอธิการมนูญ จิรสุวณฺโร อายุ ๓๖ ปี พรรษา ๑๐ ปี เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน รวม ๓ ปี ๓ เดือน มีพระจำพรรษาประจำ ๗ รูป
๓. ภายในวัดสระแก้ว มีสิ่งก่อสร้างภายในวัด ได้แก่ หอสวดมนต์ (ศาลาอเนกประสงค์) ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง หอฉัน จำนวน ๑ หลัง วิหารหลวงพ่อพุทธศรีรัตนะ จำนวน ๑ หลัง กุฏิพระสงฆ์ ๑ หลัง จำนวน ๑๐ ห้อง ศาลาธรรมสังเวช จำนวน ๑ หลัง เป็นต้น ทั้งนี้ วัดสระแก้ว ยังขาดอุโบสถซึ่งใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมของสงฆ์
วัดสระแก้ว มีสภาพเป็นพื้นที่โล่ง ติดไร่นา และไร่อ้อย ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร
๔. วัดสระแก้ว เป็นศูนย์กลางของชุมชนตำบลเด่นใหญ่ จำนวน ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ ๗ หมู่ ๑๐ และหมู่ ๑๑ ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนมีความพร้อมที่จะช่วยกันร่วมทำบุญในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ