- หน้าแรก
- แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙
- วัดที่ขอใช้แบบพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- วัดใหม่โพธิ์ทอง ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
วัดใหม่โพธิ์ทอง ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
วัดใหม่โพธิ์ทอง ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
วันที่ได้รับพระราชานุมัติ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐
เรื่องเดิม
พระครูสถิตโพธิธรรม เจ้าอาวาสวัดใหม่โพธิ์ทอง ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ขออนุญาตนำแบบพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร นำไปใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอุโบสถที่วัดใหม่โพธิ์ทอง ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการประกอบศาสนพิธีของวัด
ข้อเท็จจริง
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของวัดใหม่โพธิ์ทอง ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยได้ไปพบกับพระครูสถิตโพธิธรรม เจ้าอาวาสวัดใหม่โพธิ์ทอง เพื่อรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ประวัติความเป็นมา
วัดใหม่โพธิ์ทอง ตั้งอยู่เลขที่ 30/2 ซอย 21 หมู่ที่ 3 บ้านใหม่โพธิ์ทอง ถนนสายสามขวา ซอย 21 ตำบลชอนน้อย อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่เดิม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 บริเวณนั้นเป็นป่าดงดิบกันดาร ทางคมนาคมไม่สะดวก ต้องใช้ล้อเกวียนเป็นพาหนะเดินทางเท้าเท่านั้น ได้มีพระภิกษุธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านได้เกิดศรัทธาจึงร่วมกันสร้างที่พักสงฆ์ ได้นำหญ้ามามุงทำเป็นหลังคาศาลากุฏิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ชาวบ้านได้ทำเรื่องขอต่อผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพื่อขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษาเพิ่มขึ้น นายไล้ ศรีโสภณ มรรคทายก จึงเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการขอจัดตั้งวัดในปี พ.ศ. 2519
วัดใหม่โพธิ์ทองได้รับการอนุญาตจากกรมการศาสนาให้สร้างวัด ตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2519 และได้มีประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้ตั้งวัดใหม่โพธิ์ทองขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2520
2. สถานที่ตั้งและเนื้อที่วัด
เนื่องด้วย วัดใหม่โพธิ์ทอง เริ่มต้นจากการเป็นที่พักสงฆ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในขณะนั้น ได้ให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ขยายรถสามล้อถีบจากจังหวัดพระมหานคร เข้าสู่นิคมสร้างตนเอง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งพื้นที่ขณะนั้นเป็นป่าดงพญาเย็น จัดให้มีการแบ่งแปลงพื้นที่เป็นล็อค ล็อคละ 25 ไร่ ต่อ 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากิน เช่น จอบ เสียม เลื้อย และค้อน ทางราชการได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชากรที่เข้ามาอยู่ใหม่ ซึ่งยังไม่มีรายได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาบริเวณนั้นมาจากภาคอีสาน และภาคกลาง ผู้คนส่วนใหญ่ มีเชื้อสาย ไทย ลาว และมอญ ด้วยเหตุนี้ ที่ดินละแวกนั้นจึงไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง ที่ดินที่สร้างวัดนี้เป็นเขตนิคมสร้างตนเอง โดยกรมประชาสงเคราะห์อนุญาตให้ใช้เป็นที่สร้างวัด ตามหนังสือที่ มท.171/8400 ลว. 26 กุมภาพันธ์ 2808 ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2503 (อ้างตามบันทึกประวัติของวัดใหม่โพธิ์ทอง)
เมื่อเดือน มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เจ้าอาวาสวัดใหม่โพธิ์ทองได้ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลชอนน้อย เพื่อขอเอกสารการรับรองสภาพพื้นที่วัด (เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการติดต่อกับมูลนิธิชัยพัฒนาแทนเอกสารโฉนดที่ดิน) โดยนายกำพล เทพกฤษ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชอนน้อย เป็นผู้ลงนามรับรองความเป็นจริง และรับรองสภาพที่ดินของวัด ว่า ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 25 ไร่ ทิศเหนือจดถนนทางหลวงหมายเลข 2050 ทิศใต้จดพื้นที่เกษตรกร ทิศตะวันออกจดทางหลวงหมายเลข 21 (ทางหลวงชนบท ลบ. 4015) ทิศตะวันตกจดถนนสายบ้านใหม่โพธิ์ทอง
การเดินทางไปยังวัดใหม่โพธิ์ทองใช้เส้นทางกรุงเทพฯ – ลพบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 มุ่งหน้าไปยังอำเภอพัฒนานิคม อยู่ห่างจากอำเภอพัฒนานิคม 5 กิโลเมตร วัดจะอยู่ด้านซ้ายมือ
สภาพวัดมีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่พลุกพล่าน มีการจัดการภายในวัดได้เป็นอย่างดี บริเวณพื้นที่รอบๆวัดทำไร่ข้าวโพด
3. เจ้าอาวาสและพระสงฆ์
วัดใหม่โพธิ์ทอง มีพระภิกษุจำพรรษาประจำ 5 รูป โดยพระครูสถิตโพธิธรรม ฉายา อชิโต อายุ 61 ปี พรรษา 25 ปี วิทยฐานะ นักธรรมเอก เป็นเจ้าอาวาส ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี
- สิ่งก่อสร้างภายในวัด
ภายในวัดใหม่โพธิ์ทองมีเสนาสนะ อันได้แก่ ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ หอสวดมนต์ หอฉัน หอระฆัง กุฏิพระสงฆ์ จำนวน 12 หลัง เรือนสุขา จำนวน 15 ห้อง ศาลาธรรมสังเวช และเมรุ มีรายละเอียด ดังนี้
5. อุโบสถ
วัดใหม่โพธิ์ทอง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านใหม่โพธิ์ทอง หมู่ที่ 3 เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ กิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมตักบาตร ทอดกฐิน ถือศีลในวันพระ เป็นสถานที่ทำวัตรปฏิบัติธรรมในช่วงวันพระ และเป็นศูนย์ประชุมประจำตำบล
ปัจจุบัน วัดใหม่โพธิ์ทอง ยังขาดอุโบสถในการประกอบพิธีสังฆกรรมตามพระวินัย สวดปาฏิโมกข์ และประกอบศาสนกิจอื่นๆ ในการนี้ เจ้าอาวาส กรรมการวัด และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ได้พิจารณาเห็นสมควรที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้นตามแบบของพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญศาสนกิจที่เหมาะสมและสง่างาม เนื่องจากปัจจุบันต้องเดินทางไปยังวัดห้วยแก้ว ตำบลชอนน้อย เพื่อทำพิธีสังฆกรรม ทั้งนี้ วัดใหม่โพธิ์ทองได้จัดเตรียมสถานที่และปรับพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้วสำหรับการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในชุมชนมีความพร้อมที่จะช่วยกันร่วมทำบุญในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนี้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ