วันอังคารที่ 27 เมษายน 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ป่าบริเวณเขื่อนจุฬาภรณ์ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อทรงพิจารณาการจัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ดังกล่าวนี้ มีเนื้อที่จำนวน 14,800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลทุ่งลุยลาย ตำบลห้วยยาง และตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริ
สภาพภูมิประเทศ มีความสูง 750 ถึง 850 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าสนผสม พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่รอบบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุฬาภรณ์ ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดแนวเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้จรดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดพื้นที่ในครอบครองและใช้ประโยชน์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นต้นกำเนิดของลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขา คือ ลุ่มน้ำพรม นอกจากนี้ มีการพบเห็นร่องรอยของสัตว์ป่าซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ช้าง หมี กระทิง หมาใน หมูป่า กวาง อีเห็น เก้ง กระจง และนกกระทา เป็นต้น ส่วนพืชพันธุ์ธรรมชาติที่หายากและยังมีความอุดมสมบูรณ์ปรากฎให้เห็นจำนวนมาก ได้แก่ ต้นจำปีศรีเมืองไทย ต้นแลนง้อ และต้นสบ เป็นต้น
การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ป่าและทรงพิจารณาการจัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าคงอยู่อย่างยั่งยืน โอกาสนี้ ประทับเรือพระที่นั่งไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าพรมโซ้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศโดยรอบ จากนั้น พระดำเนินไปยังจุดศึกษาธรรมชาติห้วยปูน-ดงแค่ เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่ป่าและทรงร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ได้แก่ กิจกรรม check point จุดปลูกกล้วยไม้ จุดหล่อรอยเท้าสัตว์ ปลัก จุดทำโป่งเทียม จุดตั้งกล้องถ่ายภาพ เป็นต้น จากนั้น ทรงปล่อยสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ จำนวน 56 ตัว ไก่ป่า จำนวน 9 ตัว และนกยูง จำนวน 9 ตัว
การดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้เป็นแกนกลางในการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ เขื่อนจุฬาภรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมธนารักษ์ พิจารณาจัดทำแผนงาน ประกอบด้วย งานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ งานด้านการป้องกันรักษาป่าไม้ งานด้านการปลูกเสริมพื้นที่ป่า งานด้านอื่นๆ เช่น ปล่อยสัตว์ป่าหายาก เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้เดิมให้ดีขึ้นและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหายากและเพาะพันธุ์เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นวงจรแห่งชีวิตที่เกื้อกูล เพิ่มความสมดุลและความยั่งยืนตลอดไป
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา