วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระนตรการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดทำเป็นแปลงนาสาธิต เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี ทำเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มและขยายผลสู่ราษฎร
พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของ นางวิจิตร โง้วพัฒนา เนื้อที่ 849 ไร่ และได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโอนกรรมสิทธิ์ให้มูลนิธิชัยพัฒนา เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม ราษฎรมีฐานะยากจน ทำนาเพียงอย่างเดียวปีละ 1 ครั้ง และไม่เคยปลูกพืชชนิดอื่นๆ เลย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาช่วยเหลือราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการ จำนวน 48 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่เดิม โดยให้ปลูกข้าวพันธุ์ดีและส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ผู้ทำนาสำหรับราษฎรดังกล่าว โดยให้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับมูลนิธิฯ ซึ่งการดำเนินงานตามพระราชดำรินี้ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายแก่กลุ่มสมาชิกและผู้สนใจได้
นอกจากนี้ ได้จัดทำแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน จัดทำศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตและขยายพันธุ์พืชไร่ ไม้ผลต่างๆ เช่น ส้มโอพันธุ์ขาวทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เป็นต้น จัดทำโครงการส่งเสริมให้ราษฎรปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์และใช้วิธีการบังคับให้ต้นมะนาวออกผลนอกฤดู จัดทำแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำชีวภาพ จัดทำแปลงสาธิตการเกษตร การเลี้ยงสุกรหลุม การเพาะเห็ด การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาดุกอุยในบ่อพลาสติก รวมทั้งการจัดทำแปลงรวบรวมพืชสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อเป็นตัวอย่างและขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปปฏิบัติที่บ้านของตนเอง
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านหนองไผ่ ตำบลตลุกเทียม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งได้จัดทำเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ และเป็นศูนย์กลางการผลิตและขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นการเผยแพร่และให้ความรู้แก่ราษฎรเพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง
ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินที่นายมนตรี ประเสริฐภิญโญ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 34 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เนื่องจากสภาพพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ดอน และการทำนาของเกษตรกรได้ผลไม่ดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่โครงการฯ ออกไปส่งเสริมความรู้สู่ชุมชน และในอนาคตจะจัดทำเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา ตลอดจนรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อจัดจำหน่ายต่อไป
นอกจากนี้ ประชาชนมีความสนใจที่จะปลูกไม้ผล พืชผัก และพืชหลังนา ดังนั้น สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดทำโครงการแปลงสาธิตเกษตรแบบผสมผสาน จัดทำหลักสูตรเทคนิคการปลูกพืชต่างๆ การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกหญ้าแฝกตามแนวร่องระบายน้ำ การจัดทำโครงการสร้างแปลงเรียนรู้การผลิตและขยายพันธุ์ส้มโอ เพื่อให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ส้มโอพันธุ์ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์และใช้วิธีการบังคับให้ต้นมะนาวออกผลนอกฤดู การจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชผักเพื่อให้เป็นอาชีพเสริม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนที่อยู่รอบบริเวณโครงการฯ และสามารถทำเป็นอาชีพและเพิ่มรายได้ในอนาคต
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคุณภาพพันธุ์กล้วยและผลผลิตกล้วยเพื่อนำไปแปรรูปจำหน่าย
ที่ดินแปลงนี้ เนื้อที่จำนวน 15 ไร่ 88 ตารางวา เป็นที่ดินของนายประภาส สิงหลักษณ์ และได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอาชีพผลิตกล้วยตากในอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
การดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนให้ราษฎรบ้านเกาะคูรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มราษฎรผู้ผลิตกล้วยตาก โดยการส่งเสริมในด้านวิชาการ เช่น พัฒนาคุณภาพพันธุ์กล้วย ซึ่งในปัจจุบันกล้วยตากสร้างชื่อเสียงให้อำเภอบางกระทุ่ม และได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดพิษณุโลกด้วย
นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขังเป็นประจำและเป็นเวลานาน ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อโครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น จะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้และจะทำให้พื้นที่บริเวณนี้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เพื่อทรงรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่และพระราชทานแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าและทรงตรวจเยี่ยมโครงการให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริ ในการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติโคลนถล่มในเขตพื้นที่อุตรดิตถ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 โดยดำเนินการช่วยเหลือราษฎรใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอท่าปลา และอำเภอลับแล แบ่งเป็น 4 ระยะตามความเสียหาย ซึ่งใช้งบประมาณโดยรวม จำนวน 121,815,072.22 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างบ้านพักถาวรของมูลนิธิชัยพัฒนา 249 หลัง การรื้อย้ายราษฎรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย 299 หลังคาเรือน การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูในด้านอาชีพทางการเกษตร และการช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินไปยัง หมู่บ้านน้ำลี หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติโคลนถล่ม โดยการก่อสร้างบ้านพักถาวร 16 หลัง การรื้อย้ายราษฎรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูในด้านอาชีพทางการเกษตรแก่ราษฎร และการช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ผ้าห่มดินและหมอนกันดินเพื่อป้องกันการพังทลายของดินอีกด้วย พร้อมนี้ ได้พระราชทานชื่อใหม่แก่หมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านชัยพัฒนา (บ้านน้ำลี)"
ต่อมา เสด็จฯ ยัง โครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยดินถล่ม บ้านน้ำต๊ะ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการดังกล่าว สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรธรณีดำเนินการทดสอบการใช้กระสอบมีปีก เพื่อป้องกันการพังทะลายของหน้าดินบริเวณไหล่เขา โดยการใช้กระสอบมีปีกได้เริ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลที่ออกมานั้นถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังนั้น บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จึงเล็งเห็นว่าควรนำมาทดสอบในพื้นที่ประสบอุบัติภัยโคลนถล่ม
กระสอบมีปีก เป็นกระสอบที่ทำจากวัสดุย่อยสลายเองได้ ภายในบรรจุทรายเพื่อถ่วงน้ำหนัก การจัดเรียงกระสอบนั้นจะเย็บปีกด้าน ซ้าย ขวา และด้านหลัง เข้ากับปีกกระสอบอีกหนึ่งใบและจัดวางแบบซ้อนทับในบริเวณไหล่เขา หรือเชิงเขา ข้อดีของกระสอบมีปีก นอกจากจะทำหน้าที่หลักในการป้องกันการชะล้างและการพังทะลายหน้าดินแล้ว กระสอบมีปีกยังเปรียบเสมือนตัวยึดต้นไม้กับดินอีกด้วย และในอนาคตจะทดลองนำเมล็ดพืชรวมกับทรายบรรจุกระสอบ เพื่อทดสอบการปลูกต้นกล้า คาดว่าการทดลองนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอันใด เนื่องจากกระสอบมีปีกสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้เอง
จากนั้น เสด็จฯ ยัง โครงการฟื้นฟู พื้นที่ประสบภัยดินถล่ม บริเวณเขาอานม้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบใช้ผ้าห่มคลุมดินและหมอนกันดิน เนื่องจากสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้พิจารณาถึงการพังทลายของดินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้หาแนวทางป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการจัดทำโครงการนำร่อง การอนุรักษ์หน้าดินและฟื้นฟูธรรมชาติโดยใช้ผ้าห่มดินและหมอนกันดิน ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผ้าห่มดินและหมอนกันดิน เพื่อศึกษาทดลองการป้องกันการพังทลายของหน้าดินและเพิ่มความชุ่มชื้นของหน้าดิน โดยนำมาทดลองใช้ในพื้นที่อำเภอท่าปลา และอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ผ้าห่มดินและหมอนกันดิน เป็นวัสดุธรรมชาติ โดยการนำทะลายปาล์มน้ำมันมาปั่นให้เป็นเส้น หลังจากนั้นจึงนำมาทอเป็นผืน ทั้งผ้าห่มดินและหมอนกันดินจะย่อยสลายได้เอง โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วิธีการเช่นนี้ เคยทดลองใช้มาแล้วในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เมื่อฝนตกหมอนกันดินจะช่วยชะลอน้ำที่ไหลบ่ามาจากที่สูงให้ช้าลงและสามารถบังคับทิศทางการไหลของน้ำ เป็นการลดการเกิดร่องน้ำที่อาจส่งผลต่อการพังทะลายของดิน
นอกจากนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโคลนถล่มในพื้นที่ ด้วยการก่อสร้างบ้านพักถาวรของมูลนิธิชัยพัฒนา 16 หลังคาเรือนอีกด้วย