วันพุธที่ 23 มกราคม 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลาประมาณ 09.40 น. รถยนต์พระที่นั่งถึงโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าถล่มบ้านเรือนราษฎร และสถานที่ต่างๆ ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือโดยพระราชทานเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 300,000 บาท แก่โรงเรียนฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ โต๊ะและเก้าอี้รับประทานอาหาร อุปกรณ์เครื่องเขียนประกอบการเรียน และอุปกรณ์สนับสนุนวิชาชีพสำหรับเด็ก และได้พระราชทานพันธุ์พืชผักสวนครัวจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งพระราชทานแปลงพืชผักสวนครัวให้แก่โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน เพื่อบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น ทั้งนี้ ได้พระราชทานเงินช่วยเหลือแก่ราษฎรที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย รวมถึงจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยให้มีอาชีพ และรายได้เสริมเพื่อความยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือราษฎรบริเวณดังกล่าวอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำป่าและดินถล่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง โดยมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ได้บรรจุโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยแม่ใจ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยแม่ใจ ช่วง 2 เข้าไว้ในแผนงานอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำปีงบประมาณ 2556 กรมชลประทาน ได้เข้าไปสำรวจและพูดคุยกับราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมตลิ่งลำน้ำแม่ใจเกี่ยวกับการทำกำแพงป้องกันแนวกัดเซาะและพังทลายของดินลำน้ำแม่ใจ เพื่อพิจารณาขยายลำน้ำ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งมอบงบประมาณสำหรับก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 3 จุด ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อนแล้ว โดยคาดว่าสะพานทั้ง 3 จุดจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานจริงภายในเดือนมกราคม 2556
ต่อมาเวลา 10.10 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ทรงรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการฯ จากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมทั้งพระราชทานของที่ระลึกแก่เอกอัครราชทูตฯ และที่ปรึกษาฝ่ายการค้าและเศรษฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ในการนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทูลเกล้าฯ ถวายใบรับรองคุณภาพการผลิตเห็ด และสตรอเบอรี่ของโครงการฯ เนื่องจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบระบบการผลิตเห็ดและสตรอเบอรี่ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งการปฏิบัติงานของโครงการฯ เป็นไปตามระบบการจัดการคุณภาพพืชของกรมวิชาการเกษตร และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทูลเกล้าฯ ถวายใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรของโครงการฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปชาสมุนไพรเจียวกู้หลานและชาสมุนไพรเห็ดหลินจือของโครงการฯ ผลิตภายใต้โรงแปรรูปที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการปฏิบัติการที่ดีในการผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
จากนั้น ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานส่วนต่างๆ ของโครงการ อาทิ อาคารปฏิบัติการสำหรับขยายเชื้อเห็ด ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดของกลุ่มชาวบ้านผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำป่าซึ่งโครงการฯ ได้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม เช่น การแปรรูปเห็ดเป็นแหนมเห็ด น้ำพริกตาแดงเห็ด น้ำพริกเผาเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด และเห็ดแปรรูปชนิดต่างๆ เช่น เห็ดสวรรค์ เห็ดอบเนย เห็ดสมุนไพร เห็ดบาร์บีคิว และเห็ดปาปริก้า
อาคารจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์โครงการ ทอดพระเนตรการปรุงชาตำรับพิเศษ ซึ่งผลิตจากเห็ดหลินจือ มะตูม และเจียวกู้หลาน มีสรรพคุณตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน คือ บำรุงธาตุ แก้ร้อนใน ช่วยย่อยอาหาร บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้พัฒนาตำรับชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยนำพืชสมุนไพร ในท้องถิ่นมาศึกษาวิจัยโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยการตรวจสอบเอกลักษณ์ของพืชสมุนไพร ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญของพืชสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของตำรับชาและตำรับชาสำเร็จรูป การทดสอบทางประสาทสัมผัสของตำรับชาสำเร็จรูป โดยชาดังกล่าวเป็นชาที่เกิดจากการนำพืชสมุนไพรสามชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาผสมผสานอย่างลงตัว เพื่อให้สรรพคุณและรสชาติที่ดีมีกลิ่นหอมหวานชวนดื่มให้ชวนดื่มชามากยิ่งขึ้น
โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยแบ่งการดำเนินงานโครงการฯ ออกเป็น 4 ด้าน คือ
ด้านงานวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช - ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชผัก สมุนไพร และเครื่องเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพการผลิตพืชและระบบการปลูกพืช เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของโครงการฯ สำหรับดำเนินการขยายผล
ด้านงานธุรกิจเพื่อสังคม - ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดแบบครบวงจรและพัฒนาศักยภาพการผลิตและขยายพันธุ์สตรอเบอรี่ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อที่จะนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายในรูปแบบของผลผลิตสด รวมถึงพัฒนาต่อยอดผลผลิตสดในรูปแบบของการ แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่โครงการฯ อีกทางหนึ่ง
ด้านงานบริการการพัฒนาสังคม - ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการผลิตและขยายพันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ เช่น เจียวกู้หลาน รางจืด หญ้าหวาน และสมุนไพรต่างประเทศอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยการจำหน่ายกล้าไม้ดังกล่าวให้แก่ประชาชนที่สนใจนำไปทดลองปลูกและทางโครงการฯ จะรับซื้อผลผลิตที่ได้กลับมาแปรรูปและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของโครงการฯ และจากการพัฒนาศักยภาพพันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ ทำให้ปัจจุบันโครงการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ที่โครงการฯ หรือที่ร้านภัทรพัฒน์ กรุงเทพฯ
ด้านงานอำนวยการ - ดำเนินการบริหารจัดการโครงการฯ ปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารสถานที่ต่างๆ พัฒนากิจกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องระบบการปลูกพืชเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนให้มีความน่าสนใจและตรงกับความต้องการของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของโครงการฯ ให้แก่ประชาชนที่สนใจ