วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลาประมาณ 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลเพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร ในการนี้ รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้น้อมเกล้าฯ ถวายแพะพันธุ์เบล็คเบงกอลจำนวน 3 ตัว ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 เป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว และกรมปศุสัตว์ได้นำแพะแบล็คเบงกอลดังกล่าว ไปเลี้ยงดู พักฟื้นและกักตรวจโรคเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นแพะที่มีขนาดเล็กสูงประมาณ 40-60 ซม. มีขนสั้นดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นเงา ใบหูมีขนาดเล็กตั้งชี้ไปข้างหน้า ขนสั้น ละเอียดนุ่ม โตเต็มวัยจะมีความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 12 กิโลกรัม ลักษณะไม่เหมือนแพะสายพันธุ์อื่นตรงที่ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเคราและเขา จุดเด่นของแพะสายพันธุ์นี้ คือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมาก ตั้งท้องเพียง 150 วัน เมื่อตกลูกมักจะออกแฝด 2 ถึง 4 ตัว สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ให้ลูกครั้งแรกเมื่ออายุ 15-16 เดือน มีลูกเฉลี่ยครอกละ 2 ตัว ข้อเสียคือให้นมน้อยไม่ค่อยเพียงพอต่อลูกที่คลอดครั้งละมากๆ เฉลี่ยให้นม 0.4 กิโลกรัม/วัน หรือประมาณ 44 กิโลกรัมต่อระยะการให้นม 105 วัน แพะแบล็คเบงกอล เป็นแพะขนาดเล็ก เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อและหนังเป็นหลัก เนื้อมีคุณภาพดี รสชาติดี หนังมีคุณภาพ ราคาแพง แพะพันธุ์นี้เลี้ยงมากในอินเดียและบังคลาเทศ
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประเทศปากีสถานเดือนมีนาคม ปี 2555 ได้ทรงนำแพะพันธุ์บาบาร์รี มาพระราชทานโครงการ จำนวน 1 คู่ เป็น เพศเมีย 1ตัว เพศผู้ 1 ตัว และพระราชทานเพิ่มอีก 1 คู่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แพะบาร์บารีเป็นแพะกึ่งเนื้อกึ่งนมมีขนสั้น ส่วนมากสีขาวมีจุดด่างสีน้ำตาล รูปร่างเพรียว หัวเล็ก คอยาวเรียว ขาตรง ปัจจุบันมีแพะแบล็คเบงกอล จำนวน 33 ตัว เป็น เพศเมีย 17ตัว เพศผู้ 16 ตัว กำลังตั้งท้องอีก 9 ตัว และมีแพะบาร์บารี จำนวน 4 ตัว เป็น เพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 2 ตัว
จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทอดพระเนตรการรับซื้อเมล็ดพันธุ์ของโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า ฟัก แฟง ถั่วพู ถั่วแปบ มะระขี้นก และบวบหอม สะสมไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 1002 ครัวเรือน จาก 44 หมู่บ้านใน 7 ตำบล และได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อย่างใกล้ชิด
จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ และโครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’
โครงการทั้งสองนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ราษฎรปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน เพื่อให้มีผักที่ปลอดภัยจากสารพิษบริโภค หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ได้พระราชทานกล้าต้นมะรุม กล้าต้นเสี้ยว กล้าต้นขี้เหล็ก เมล็ดแค และกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่ม่าเมี่ยว มะกอก ให้ชุมชนนำไปทั้งในบ้านและตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปประกอบอาหารรับประทานได้ และมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค
เวลาประมาณ 12.00 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นที่ระลึก ในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ประชาชนทั่วไปและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
ต่อมา ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อาทิ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชผักและข้าวเพื่อคัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่ดีและเหมาะสมเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานในนามของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ การทดสอบและผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ แปลงผักที่ทรงนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศพระราชทานให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองปลูก และแปลงผักสดปลอดสารพิษที่ใช้ประกอบอาหารในร้านจันกะผัก ภายในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
เวลาประมาณ 16.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในการนี้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเพื่อรับพระราชทานของที่ระลึก จากนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทูลเกล้าฯ ถวายใบรับรองคุณภาพโรงงาน GMP เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 2 ลักษณะคือ GAP (Good Agriculture Practice) รับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการทางการเกษตร แปลงปลูก ดิน น้ำ สารเคมี และการเก็บเกี่ยว และGMP (Good Manufacturing Practice) รับรองมาตรฐานคุณภาพของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร ระบบการผลิต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ทูลเกล้าฯ ถวายใบจดทะเบียนอาหารน้ำมันเมล็ดไนเจอร์และน้ำมันเมล็ดมะรุม และผู้อำนวยการคณะกรรมการอาหารและยา จังหวัดเชียงราย ทูลเกล้าฯ ถวายใบรับรองอาหารน้ำดื่มตราเมล็ดชา ตามลำดับ
จากนั้นได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานส่วนต่างๆ ของโครงการฯ ประกอบด้วย ส่วนนิทรรศการ ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมและเพื่อรองรับคณะศึกษาดูงานที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี ส่วนของโรงงาน ได้ทอดพระเนตรการหีบน้ำมันจากเครื่องจักรขนาดเล็ก ที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร เป็นเครื่องจักรที่มีกลไกการทำงานคล้ายกับเครื่องหีบน้ำมันและสามารถใช้หีบพืชน้ำมันได้หลากหลายชนิด และต่อไปจะเปิดให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์ฯ ได้มีโอกาสหีบน้ำมันด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน กราบบังคมทูลรายงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านต่างๆ อาทิ
ด้านวิจัยและพัฒนา - จากการรับเมล็ดชาน้ำมันจากแหล่งปลูกภายในประเทศ ได้แก่ แปลงบ้านปูนะ บ้านปางมะหัน และศูนย์หญ้าแฝก รวม 14,769 กก. เพื่อนำมาผลิตน้ำมันเมล็ดชา พบว่าเมล็ดโดยทั่วไปมีความชื้นต่ำและสกัดน้ำมันได้ในปริมาณที่มากกว่าเมล็ดชาที่นำเข้าจากประเทศจีน และนอกจากเมล็ดชาแล้วศูนย์ฯ ยังผลิตน้ำมันจากเมล็ดไนเจอร์ จากแปลงปลูกในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 5,498 กก. และสกัดน้ำมันมะรุม ซึ่งรับซื้อจากแหล่งปลูกทั่วประเทศจำนวน 1,465 กิโลกรัม เพื่อสกัดน้ำมันเพื่อจำหน่าย และศึกษาคุณสมบัติของน้ำมัน
ด้านการผลิต – ผลิตน้ำมันเมล็ดชา ขนาด 250 มิลลิลิตร จำนวน 13,449 ขวด รวม 3.370 ลิตร ผลิตน้ำมันมะรุม รวม 38 ลิตร ผลิตน้ำมันเมล็ดไนเจอร์ จำนวน 2,380 ขวด 595 ลิตร ผลิตน้ำมันเมล็ดทานตะวัน จำนวน 2,092 ลิตร และผลิตกากชาน้ำมัน ขนาดถุงละ 8 กก. จำนวน 2,077 ถุง (16,616 กก.) สบู่น้ำมันชาสูตรต่างๆ จำนวน 4,495 ก้อน และลูกประคบกากมะรุม จำนวน 82 ลูก
โรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาแห่งนี้ เป็นโรงหีบน้ำมันชาแห่งแรกและเป็นโรงหีบน้ำมันชาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เครื่องจักรทุกชิ้นที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบและผลิตภายในประเทศ จากการต่อยอดเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซลในโครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สามารถผลิตน้ำมันเมล็ดชา และน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ สำหรับการบริโภคได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000 ลิตร มีห้องเก็บวัตถุดิบ และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำมัน และสามารถเปิดให้ผู้สนใจเข้าศึกษากระบวนการผลิตน้ามันได้ในทุกขั้นตอน น้ำมันเมล็ดชาที่สกัดได้นั้นมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก จนได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และผู้สูงอายุ นอกจากน้ำมันเมล็ดชา จะใช้ในการบริโภคและประกอบอาหารแล้ว ยังสามารถนำไปผลิตเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เช่น ครีมและโลชั่นบำรุงผิว ครีมกันแดด สบู่เป็นต้น
หลังจากทอดพระเนตรการดำเนินงานในส่วนของนิทรรศการและโรงงานแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับฟังการถวายรายงานการดำเนินงานส่วนต่างๆของศูนย์ฯประกอบด้วย ไซไลและเครื่องอบเมล็ดพืชน้ำมัน เพื่อรักษาสภาพของเมล็ดพืชน้ำมัน ก่อนจะนำมาดำเนินการหีบน้ำมัน จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถกอล์ฟพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานในส่วน คลังสินค้า โรงผลิตน้ำดื่ม ด้วยระบบ R.O. (Reverse Osmosis) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และทางศูนย์ฯ ใช้ผลิตน้ำเพื่อการบริโภคและจำหน่าย ภายใต้ ตราเมล็ดชา จากนั้นเสด็จฯทอดพระเนตร บ่อบำบัดน้ำเสียโรงงาน โดยวิธีธรรมชาติ แปลงสาธิตปลูกพืชน้ำมัน ได้แก่ ต้นมะรุมพันธุ์อินเดีย ต้นไนเจอร์ทานตะวัน เมล็ดฟักทองน้ำมัน และต้นผักกาดน้ำมัน จากนั้นเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ อ.แม่สาย ที่มารอรับเสด็จฯ ก่อนเสด็จฯ ไปยังร้านอาหาร “เมล็ดชา” เพื่อทรงปรุงยำสตอเบอรี่ สูตรน้ำมันเมล็ดชา โดยเมนูดังกล่าวจะนำขึ้นเป็นเมนูแนะนำของร้านเมล็ดชา
วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากพระตำหนักดอยตุงยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมันโดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา นับเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น เพื่อทำงานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อันเป็นมูลนิธิ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชนกลุ่มน้อยและชาวไทยภูเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิต และให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้
ชาน้ำมัน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Theaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia oleifera Abel. เป็นไม้พุ่มสูง ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีมากทางจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบ ไหล่เขา และริมลำธาร ที่ระดับความสูง 500 – 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล น้ำมันที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง เทียบเท่าหรือดีกว่าน้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆใกล้เคียงกัน น้ำมันชามีสรรพคุณทางการแพทย์ นอกจากนี้ ในน้ำมันชามีสารประกอบที่ทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น จึงสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ได้อีกด้วย
ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันชามานานกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันพบว่ามีการปลูกอยู่ถึง 105 เขต โดยเฉพาะที่เมืองหูหนานและเมืองกวางสี คนจีนใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร ประมาณการได้ว่าประชากรจีนหนึ่งในเจ็ดครอบครัวใช้น้ำมันชาในการปรุงอาหาร และความต้องการใช้น้ำมันชาในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสูงถึง ๔๘๕,๐๐๐ - ๕๕๑,๐๐๐ ตันต่อปี
การดำเนินงานโครงการนี้ เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้มีมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทดลองปลูกชาน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันชาสำหรับบริโภค มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจึงเริ่มสนองพระราชดำริ โดยได้ติดต่อกับสถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนชาน้ำมัน มาทดลองปลูกในประเทศไทย
เดือนพฤศจิกายน 2547 สถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ส่งเมล็ดพันธุ์ประเภทดอกสีแดง และดอกสีขาวรวม 10 กิโลกรัม และต้นอ่อนชาน้ำมันประเภทดอกสีแดง และสีขาว รวม 61 ต้น เพื่อทดลองปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่อมาในปี 2549 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาปลูกในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ พื้นที่แปลงชาน้ำมันของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บริเวณสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่
นอกเหนือจากพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิชัยพัฒนาได้เริ่มโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันในพื้นที่บ้านปางมะหัน บ้านปูนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ในตำบลเทอดไทย อำเภอ แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ทำการปลูกชาน้ำมันไปแล้ว ในพื้นที่ 3,418 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่บ้านปางมะหัน 1,408 ไร่ ดำเนินงานโดยโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเอง และร่วมกับราษฎรในหมู่บ้านปูนะ บ้านแม่หม้อ บ้านจะตี และพื้นที่ข้างเคียงรวม 13 หมู่บ้าน ปลูกชาน้ำมันอีกจำนวน 2,010 ไร่
การศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเน้นการศึกษาในเรื่องของวิธีการปลูก การดูแลรักษา การป้องกันศัตรูและโรคต่างๆของต้นชาน้ำมัน และการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำเมล็ดชาที่ได้ป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำมันชา ในศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงร่วมกันตั้งขึ้นที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ทูลเกล้าถวายใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) สำหรับชาน้ำมันที่ปลูกในโครงการ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงปลูกผักสาธิตของโครงการ ที่ทำขึ้นเพื่อให้ชาวเขาเกิดความสนใจที่จะปลูกผักบริโภค โดยเริ่มจากแจกผลผลิตให้กับชาวเขาที่เข้ามาทำงานเพื่อนำกลับไปรับประทานให้เกิดความสนใจและบอกต่อ เมื่อต้องการปลูกรับประทานเองบ้าง โครงการจะแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้นำกลับไปปลูกที่บ้าน
ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงปลูกชาน้ำมันบ้านผาจี ในบริเวณที่ที่ต้นชาน้ำมันมีการเจริญเติบโตดีที่สุด และได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ผลิตเมล็ดชาน้ำมันดีเด่น 2 รายคือ นายลีปือ อายิกุ และนางหมี่ชู แซหมื่อ และได้เสด็จฯ ไปยังบ้านพญาไพรเล่าจอ ตำบลเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง ทรงเยี่ยมราษฎร และทรงรับฟังรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยการเลี้ยงไก่พื้นบ้านพระราชทาน ในเขตพื้นที่ 18 หมู่บ้านตาวแนวชายแดนในตำบลเทอดไท ด้วยทรงห่วงใยในภาวะโภชนาการของเยาวชน ในพื้นที่ห่างไกลบริเวณนี้
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จยังโรงเรียนบ้านจะตี ทอดพระเนตรการทำกิจกรรมการเรียนการสอนด้านการเกษตร และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมและพระราชทานของที่ระลึกแก่ทหารที่ประจำการ ณ ฐานทหารจะตี และฐานทหารปูนะ และทรงฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ชายแดนดัวย และในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ยังได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศและสภาพป่า ที่ในอดีตเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกทำลายเป็นพื้นที่กว้าง ปัจจุบันได้กลับพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาด้วยวิธีการ ‘ปลูกป่าแบบไม่ปลูก’
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมันเพื่อผลิตน้ำมันเพื่อบริโภคแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ขึ้น โดยโครงการฯได้ทำงานร่วมกับชุมชน มีราษฎรในตำบลเทอดไท เข้าร่วมโครงการ นอกจากปลูกชาน้ำมัน แล้วราษฎรจะดูแลพื้นที่ป่าในลักษณะปลูกป่าแบบไม่ปลูกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการปลูกชาน้ำมันทุกคนจะได้รับความรู้ในการอยู่ร่วมกับป่า โดยมีหลักสำคัญในการดูแลรักษาป่า คือ ไม่บุกรุกป่า ไม่เข้าถากถางทำกินในบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร ระวังและควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีการตั้งกรรมการหมู่บ้านขึ้นเองเพื่อดูแลและรักษาป่า มีการตั้งเวรยามเพื่อระวังไฟป่า มีกฎกติกาในหมู่บ้านและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
จากความร่วมใจของราษฎรในหมู่บ้านเหล่านี้ ไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นทุกปี ได้ห่างหายมาเป็นเวลากว่าห้าปี จากภูเขาที่ไหม้เกรียมเหลือแต่ผืนดินสีน้ำตาล บัดนี้ปกคลุมด้วยไม้ป่าและลูกไม้ที่ทยอยขึ้นคลุมพื้นที่นำความชุ่มชื้นกลับคืนมาสู่แผ่นดิน นับว่าเป็นการบริหารจัดการชุมชนที่เข้มแข็งโดยชุมชน อันเป็นการน้อมนำพระราชดำริ ‘การปลูกป่าแบบไม่ปลูก’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง