สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในจังหวัดเพชรบูรณ์
วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในโครงการให้ความช่วยเหลือราษฎรตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เขตตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 11,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาประสบปัญหาจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จแต่ไม่มีลานตากและยุ้งสำหรับเก็บข้าวเปลือก จึงจำเป็นต้องขายข้าวเปลือกก่อนเวลาในราคาต่ำ เพราะข้าวเปลือกยังคงมีความชื้นอยู่ ซึ่งหากมีลานตากข้าวเพื่อลดความชื้นและมียุ้งฉางแล้ว จะทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งยังขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการให้ความช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรตำบลโคกปรงให้ดีขึ้น โดยได้ประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้
ด้านการเกษตร
ข้าว ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มคุณภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการข้าวในการปรับปรุงข้าวพันธุ์ดี จัดทำศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ฝึกอบรมเกษตรกรในการผลิตข้าวพันธุ์ดีเพื่อใช้ในชุมชนและจำหน่ายสู่ภายนอก จัดทำศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ระหว่างเกษตรกรสู่เกษตรกรในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับข้าว เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ การแปรรูป การแก้ไขปัญหา เป็นต้น และสนับสนุนการจัดทำแปลงข้าวปลอดภัยจากสารพิษ โดยเน้นการปลูกด้วยวิธีการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี พันธุ์ข้าวเจ้า ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวชัยนาท 1 เป็นพันธุ์ที่ไม่มีปัญหาการสะสมของโรคและแมลง และขายได้ราคาสูง ส่วนพันธุ์ข้าวเหนียว ได้แก่ ข้าวสันป่าตอง 1 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคได้ดี
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณเพื่อสร้างลานตาก 10 แห่ง ในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ของตำบลโคกปรง รวมทั้งสร้างโรงสีข้าวชุมชน สร้างยุ้งฉางชุมชน และสร้างยุ้งฉางเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสำหรับศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น
สำหรับการปลูกพืชหลังนา คือ ถั่วเขียวผิวมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชหลังนาที่ราษฎรนิยมปลูกและถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลโคกปรงเช่นกัน ได้มีการส่งเสริมเพื่อจัดทำเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีสำหรับการขาย โดยกรมวิชาการเกษตรได้ส่งผู้เชี่ยวชาญฝึกอบรมการเตรียมดิน การปลูก การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้เกษตรกรมีความชำนาญมากขึ้นสามารถที่จะส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตสูง โดยผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะนำไปส่งเสริมเกษตรกรรายอื่นต่อไป
ด้านการเลี้ยงสัตว์และปลา ได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์และกรมประมงในการจัดตั้งกลุ่มการเลี้ยงโคและกลุ่มเลี้ยงปลาสำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเชิงเขาที่ไม่สามารถทำนาได้ โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อขุน และโครงการนำร่องขุดบ่อเลี้ยงปลาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อทดแทนการซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง โดยได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาที่ดิน ในการรวมกลุ่มราษฎรร่วมกันผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในแปลงของตนเอง การให้ความรู้ในการทำปุ๋ย วิธีการใช้ปุ๋ย เช่น ปริมาณปุ๋ย ระยะเวลาในการใส่ปุ๋ย ความรู้ด้านการลดต้นทุนจากปุ๋ย ประโยชน์ชองปุ๋ยอินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเผยแพร่สู่เกษตรกรในชุมชนรอบข้าง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้เข้ามาศึกษาความต้องการของเกษตรกรเพื่อพัฒนาเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพ โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการสร้างเครื่องนี้ด้วย
กลุ่มเลี้ยงโค ได้จัดหาโคเนื้อพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โตเร็ว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกโคขุนและโคพันธุ์เพื่อขายพันธุ์และขายเนื้อ รวมทั้งได้จัดทำแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์และฝึกอบรมส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคปลูกหญ้าเองด้วย
กลุ่มเลี้ยงปลา ได้ขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลาและเป็นบ่อกักเก็บน้ำ เพื่อให้ราษฎรเลี้ยงปลาที่ตรงกับความต้องการของตลาด โตเร็ว และให้ผลตอบแทนดี ซึ่งในระยะแรกได้สนับสนุนเกษตรกร 2 รายดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง
เมื่อกลุ่มผู้เลี้ยงโคและกลุ่มเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จได้ทุนคืนแล้ว จะต้องคืนทุนในรูปผลผลิต หรือหักจากรายได้ เพื่อเป็นทุนสำหรับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป
ด้านอาชีพเสริม ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ทันสมัย และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วย จึงได้สนับสนุนให้ราษฎรรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทอเสื่อกกและกลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุกขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ราษฎรนิยมทำเป็นประจำภายหลังฤดูทำนา เพื่อใช้เองภายในครัวเรือนและเป็นรายได้เสริม โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานในการส่งเสริมช่วยเหลือและพัฒนาราษฎรในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ และวางแผนการตลาด
กลุ่มทอเสื่อกก ได้มีการจัดระบบการจัดการของกลุ่ม สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องธุรกิจ จัดอบรมการย้อมสีกกจากธรรมชาติ การออกแบบลวดลายเสื่อกก การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกเป็นของใช้ชนิดต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น เสื่อกกที่ประยุกต์เข้ากับผ้าทอพื้นเมืองประดับผนัง หมอนหนุน หมอนอิง กระเป๋าแฟชั่นสตรี ที่ใส่เอกสาร กล่องรูปทรงต่างๆ แฟ้มเอกสาร ที่รองจาน รองแก้ว ตุ๊กตาแขวนผนัง กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ตระกร้า รองเท้า กล่องใส่ดินสอปากกา มู่ลี่ เบาะรองนั่ง ซองตะเกียบ กล่องใส่ขวดไวน์ กรอบรูป เป็นต้น
กลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุก ราษฎรที่นี่มีฝีมือในการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม จึงได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เช่น ความคงทนของสีต่อการซัก และตรงตามความต้องการของตลาดและลูกค้า โดยรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ให้คงเดิมอยู่เสมอ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้าของกลุ่ม โดยการแปรรูปเป็นเสื้อบุรุษ เสื้อสตรี ปลอกหมอนอิง กระเป๋า และกล่องใส่ของ เป็นต้น
ด้านการศึกษาและสังคม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนการจัดซื้อคอมพิวเตอร์และสร้างห้องโสตทัศนูปกรณ์ให้โรงเรียนชุมชนบ้านโคกปรง เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ ได้ซ่อมแซมหอประชุมโรงเรียนและสนับสนุนการอนุรักษ์ดนตรีโปงลางของโรงเรียนโคกปรงวิทยาคม และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นผู้สูงอายุตำบลโคกปรงอีกด้วย
ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้รับความร่วมมือจากกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าในระหว่างที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง พร้อมระบบส่งน้ำยังไม่แล้วเสร็จ โดยได้จัดทำแผนงานเฉพาะหน้า ประกอบด้วย โครงการระยะเร่งด่วน คือ การขุดลอกสระเก็บน้ำประปา หมู่ที่ 6 บ้านซับสวัสดิ์ สร้างฝายคลองลำเพียร ฝายคลองห้วยทราย และฝายกลุ่มเขาผา ส่วนโครงการระยะกลาง คือ การสร้างฝายห้วยเล็ง
สำหรับการก่อสร้างฝายกั้นน้ำห้วยเล็ง เป็นการจัดทำฝายและระบบส่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและจัดเตรียมแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม จะดำเนินการแล้วเสร็จราษฎรสามารถใช้น้ำได้ในปี 2552
นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาคได้ร่วมดำเนินการสำรวจและออกแบบในการหาแหล่งน้ำดิบ เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคสำหรับราษฎรตำบลโคกปรงอีกด้วย
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินงานนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และบรรเทาอุทกภัย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 17.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูฝนได้ประมาณ 10,000 ไร่ และในฤดูแล้งประมาณ 3,800 ไร่
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา