เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลาประมาณ 14.15 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงยังบริเวณอาคารสำนักงาน โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กราบบังคมทูลรายงานสรุปภาพรวมความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยในเขตจังหวัด สระแก้ว จากนั้นผู้อำนวยการเขต 2 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงานความเสียหายและการฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วมบริเวณโครงการฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุนารี ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ประกอบด้วยถนน แปลงหญ้า ห้องเก็บอุปกรณ์การเกษตร บ้านพักคนงานและเจ้าหน้าที่ โดยหลังจากน้ำท่วมก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาฟื้นฟูประกอบด้วย กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ สนับสนุนกำลังพลในการช่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและกระสอบทรายบรรเทาน้ำท่วม โครงการชลประทานจังหวัดสระแก้ว กรมชลประทาน และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ กรมเจ้าท่าสนับสนุนเรือหางยาวพร้อมเจ้าหน้าที่ ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กราบบังคมทูลรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมภายในบริเวณโครงการ โดยได้เพิ่มท่อระบายน้ำบริเวณถนนและคันรอบพื้นที่โครงการ รวมถึงซ่อมแซมถนนลูกรังและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และปรับปรุงติดตั้งบานระบายอาคารรับน้ำและอาคารระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณ น้ำในสระเก็บน้ำ
จากนั้นเสด็จฯ ไปยังแปลงปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงาน โดยการปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวเพื่อศึกษาศักยภาพ และคุณสมบัติของพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่เมื่อปลูกโดยวิธีอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอรี่เป็นที่ต้องการของผู้รักสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีสารเบต้าแคโรทีน แกมม่าโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี โฟเลตสูง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง ซึ่งนอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคมะเร็งแล้วทางการแพทย์ยังนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารบำบัดอีกด้วย
จากนั้นเสด็จฯ ไปยังอาคารบ้านปราชญ์ โดยมีผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ กราบบังคมทูลรายงานการจัดส่งกำลังพลเข้ามาช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม รวมถึงการจัดส่งกำลังพลไปเป็นครูฝึกร่วมในการฝึกกระบือให้กับเกษตรกร จากนั้นเสด็จฯ ไปยังแปลงปลูกกระจับ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงาน การปลูกกระจับดังกล่าวเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการทดลองปลูกพืชน้ำในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ บ้านโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ทดลองปลูกกระจับในที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมทั้งได้นำมาทดลองปลูกในบริเวณ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์แห่งนี้ด้วย กระจับเป็นพืชน้ำ พบในน้ำนิ่ง รากจะหยั่งลึกลงดิน เป็นพืชใบเดี่ยว มี 2 แบบ คือใบลอยน้ำและใบใต้น้ำ ใบลอยน้ำมีก้านยาวอวบน้ำและส่วนตรงกลางจะพองออกเป็นกระเปาะทำให้ลอยน้ำได้ดี แผ่นใบของใบลอยน้ำมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู หรือรูปพัด กว้างประมาณ 4-6 ซม ยาวประมาณ 7-9 ซม ใบใต้น้ำมีลักษณะเป็นใบฝอยดูเหมือนเส้นใยคล้ายรากพืช ในประเทศไทยพบกระจับ 2 กลุ่ม 4 ชนิด กลุ่มที่ 1 เป็นกระจับที่ผลมีเขา 2 เขา ได้แก่ กระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่ กลุ่มที่ 2 เป็นกระจับที่ผลมีเขา 4 เขา ได้แก่ กระจ่อม และกระจับ จากการเกิดมหาอุทกภัยประกอบกับราคาข้าว ในปัจจุบันสูงขึ้น จึงทำให้การปลูกกระจับของเกษตรกรในสภาพนากระจับลดลงไป แต่จะปลูกตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึงที่มีน้ำไม่ลึกนัก ส่วนใหญ่จะปลูกในเขตราบลุ่มภาคกลาง เช่น จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปลูกกระจับเขาแหลมโดยปลูกด้วยวิธีปักดำ ใช้ระยะห่าง 4 เมตร หากไม่ดูแลรักษาและปล่อยตามสภาพธรรมชาติ จะได้ผลผลิตประมาณ 300 – 400 กิโลกรัม/ไร่ หากดูแลรักษาใช้ปุ๋ยและทำการป้องกันทำลายศัตรูตามธรรมชาติ เช่น หอยเชอรี่ ก็อาจได้ผลผลิตถึง 1,000 – 1,300 กิโลกรัม/ไร่ และขายส่งประมาณ 10 – 11 บาท/กิโลกรัม
จากนั้นเสด็จฯ ไปยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างบ้านลอยน้ำชัยพัฒนา โดยมีผู้แทนสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กราบบังคมทูลรายงาน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาออกแบบบ้านลอยน้ำที่สามารถอยู่ได้ทั้งในภาวะปกติและในสภาวะ ที่เกิดน้ำท่วม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยได้จัดสร้างต้นแบบบ้านลอยน้ำขึ้น ที่ภายในบริเวณโครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เป็นแห่งแรก จากนั้นเสด็จฯ ไปยังคอกกระบือทรงเลี้ยง โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงาน ปัจจุบันโรงเรียนฯ มีกระบือทั้งสิ้น 17 ตัว แต่ละปีโรงเรียนฯ ได้เปิดอบรมหลักสูตรเกษตรกรกาสรกสิกรรม ซึ่งเป็นการฝึกระหว่างกระบือและเกษตรกรให้สามารถทำนาร่วมกันได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเปิดให้มีการฝึกอบรมปีละ 10-12 รุ่น เริ่มฝึกระหว่างวันที่ 1-10 ของทุกเดือน ระยะเวลาในการอบรมรุ่นละ 10 วัน โดยแต่ละรุ่นจะมีผู้เข้าฝึกอบรมรุ่นละ 8-10 คน/ตัว