วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2557
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์
ปลายปีพุทธศักราช 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาดำเนินการผลิตพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ และต่อมาในปี 2556 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ขึ้นเพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริดังกล่าว
ในการดำเนินงานเบื้องต้น ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้สำรวจพื้นที่และชุมชนพบว่า จังหวัดสุรินทร์ มีความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน โดยจะผลิตข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (อ่านว่า หนึ่งร้อยห้า) โดยมีชุมชนที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน 7 ชุมชน ใน 6 อำเภอ คือชุมชน ใน อำเภอสำโรงทาบ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอจอมพระ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอสังขะ และอำเภอเมือง
ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2493 – 2494 นายสุนทร สีหะเนิน อดีตพนักงานข้าวฯ ของกรมการข้าวฯ ในสมัยขณะนั้น ประจำอยู่ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับมอบหมายให้ออกไปเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออก จึงได้คัดเก็บเอารวงข้าวจำนวน 199 รวง ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอม เรียกกันว่า ‘ข้าวหอมมะลิ’ มาระบุหมายเลขของรวงที่เก็บมา แล้วส่งไปปลูกเพื่อคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และต่อมาในปี พ.ศ. 2500 เมื่อได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ผ่านการคัดเป็นพันธุ์บริสุทธิ์แล้ว ก็นำไปปลูกทดลองและทดสอบในพื้นที่ปลูกข้าวภาคต่างๆ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวหอมมะลิที่เป็นรวงหมายเลขที่ 105 (หนึ่งร้อยห้า) เป็นรวงที่ให้ผลผลิตดี ในพื้นที่ดินทรายของภาคอีสาน ได้เมล็ดข้าวเรียวยาว สมบูรณ์ และยังคงความหอมเหมือนข้าวที่ปลูกจากแหล่งที่ปลูกเดิม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ให้มีคงไว้ ในกรณีที่ประเทศมีภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัยที่ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะหาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพมาทดแทนให้เกษตรกรได้ยาก
ดังนั้น ในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีความตั้งใจในการที่จะให้การผลิต เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ผลิตพันธุ์ข้าวด้วยความประณีต ให้ปราศจากพันธุ์ปนอื่นหรือข้าวเมล็ดแดง เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่บริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุด โดยมีศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ช่วยแนะแนวทางการดำเนินงานให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ให้กำกับดูแลให้การผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทานมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ทุกกลุ่มจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เริ่มตั้งแต่ในแปลงนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จนถึงการบรรจุและเก็บรักษา การปลูกให้ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น การเก็บเกี่ยวต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์ปนอื่นหรือข้าวเมล็ดแดง
มูลนิธิชัยพัฒนาจะมีการตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาจากแปลงนา โดยมีกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และสมาชิกกลุ่มผู้เป็นเจ้าของแปลงนานั้นๆ ร่วมกันตรวจสอบ
การตรวจสอบจะสุ่มตัวอย่างข้าว 1 กิโลกรัม เพื่อวัดความชื้นและตรวจสอบหาข้าวปน ทดสอบเช่นนี้ 2 ครั้ง โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานเข้าเกณฑ์เป็นข้าวพันธุ์พระราชทานของมูลนิธิชัยพัฒนาจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากราคาข้าวของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นรางวัลในการผลิตข้าวอย่างปราณีตและมีคุณภาพ
ในปี 2556 ที่ผ่านมา ราษฎรในโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวน 138 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 752 ไร่ ได้พันธุ์ข้าวทั้งสิ้น 186.663 ตัน นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ได้รับซื้อพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จากศูนย์ข้าวชุมชนกันโจรง ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโคกไทรงาม และศูนย์ข้าวชุมชนในเครือข่ายของศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ อีก 37.073 ตัน รวมได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ทั้งสิ้น 223.736 ตัน
ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ จำนวน 185.595 ตัน แก่ราษฎรอำเภอลำปลายมาศและอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ 1,034 ราย ที่ประสบอุทกภัยในเดือนตุลาคม 2556 สามารถปลูกทดแทนนาข้าวพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมได้ 12,373 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสระแก้ว และสำรองไว้เพื่อเป็นพันธุ์สำหรับกลุ่มราษฎรผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในปีต่อมาอีกด้วย
ในการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มราษฎรบ้านกระเบื้อง ตำบลนา หนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี กลุ่มราษฎรบ้านกันโจรง ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระ และกลุ่มราษฎรบ้านโคกไทรงาม ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องด้วยทรงตระหนักว่า การผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมานะอดทน ต้องมีความละเอียดปราณีตในการผลิตทุกขั้นตอน นับแต่การเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การปลูกด้วยการปักดำ การดูแลเอาใจใส่ในการกำจัดวัชพืชและข้าวปน รวมทั้งการใส่ใจในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อให้ข้าวคุณภาพดีที่ตั้งใจผลิตถวาย สะอาดจนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบมายังมูลนิธิชัยพัฒนา
และนอกจากทรงส่งเสริมให้ราษฎรปลูกข้าวที่มีคุณภาพเพื่อร่วมสนองพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติตกทุกข๋ได้ยากแล้ว ด้วยทรงทราบว่า ในเขตจังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรจะสามารถทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อเข้าฤดูแล้งปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอกับความต้องการต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย พันธุ์ไก่กระดูกดำจากโครงการที่มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้คัดสายพันธุ์จนได้ไก่กระดูกดำพันธุ์แท้ และพันธุ์ปลานิลจิตรลดาจากโครงการรวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ และยังได้ทรงหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมชลประทาน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และหาแนวทางในการพระราชทานความช่วยเหลือในด้านการจัดการน้ำกับเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ทอดพระเนตรไซโลเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน และขบวนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อีก 3 กลุ่ม ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ คือ กลุ่มราษฎรบ้านขอนแก่น ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ กลุ่มราษฎรบ้านหนองไผ่ ตำบลระแงง อำเภอศีรขรภูมิ และกลุ่มราษฎรในพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเหนืออ่างลำพอกตามพระราชดำริ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ความมุ่งมั่นพระทัยในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดี มีคุณภาพ สะอาดปราศจากข้าวอื่นปลอมปนนั้นนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีและเป็นมงคลยิ่งแก่เกษตรกรชาวไทยของพระองค์