วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ปัจจุบันมีแพะ 357 ตัว ประกอบด้วย แพะแบล็คเบงกอล 176 ตัว แพะพันธุ์ซาเนน 9 ตัว แพะลูกผสม 168 ตัว และแพะบาร์บารี 4 ตัว ในปีที่ผ่านมา ได้พระราชทานแพะแก่ โครงการโรงงานสกัดน้ำมันและผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 ตัว และค่ายเม็งรายมหาราช 10 ตัว และในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแพะ 35 ตัว แก่ราษฎรจังหวัดชุมพร พัทลุง ภูเก็ต ชัยนาท ราชบุรี และ เชียงราย ที่ขอพระราชทานแพะไปปรับปรุงพันธุ์เพื่อเลี้ยงในครัวเรือนและประกอบอาชีพ ปัจจุบัน มีแพะที่จะพร้อมพระราชทาน ทั้งหมด 34 ตัว เป็นแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลแท้ เพศผู้ 15 ตัว และแพะลูกผสมเพศผู้ 15 ตัว เพศเมีย 4 ตัว
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลทหารบกที่ ๓๗ ค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบล รอบเวียงอำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายค่ายเม็งรายมหาราช ได้เข้าเป็นโครงการนำร่อง การขยายผลการเลี้ยงแพะสู่ชุมชน ของโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ได้รับพระราชทานแพะแบล็คเบงกอลจำนวน 10 ตัว ไปเมื่อกลางปีที่แล้ว แพะทั้ง 10 ตัว เป็นแพะเพศผู้ทั้งสิ้น เนื่องจากในปีที่แล้ว โครงการมีความจำเป็นต้องเก็บแพะเพศเมียเพื่องานวิจัยจากปริมาณแพะที่เพิ่มขึ้น ในปีนี้ มีแพะเพศเมียที่พร้อมจะพระราชทานได้อีกจำนวน 4 ตัว ในวันนี้จึงได้พระราชทานแพะลูกผสมแบล็คเบงกอล-ซาแนนเพศเมีย 2 ตัว แก่ค่ายเม็งรายมหาราช นอกจากนี้ ทางค่ายเม็งรายมหาราช ยังได้หากลุ่มสมาชิกราษฎรในพื้นที่ นำแพะพื้นเมืองของตน เข้ามาเพื่อผสมให้เกิดลูกผสมสายพันธุ์แบล็คเบงกอล-พื้นเมือง นับเป็นการต่อยอดให้ราษฎรได้มีแพะที่มีลักษณะดีและแข็งแรงต่อไป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ได้เสด็จพระราชดำเนินยังตลาดผักปลอดภัย ชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ หมู่ที่ 5 บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ และเสด็จพระราชดำเนินยังบ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบ้านของนางบัวผัด กำแพงแก้ว สมาชิกโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกที่ผลิตโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ราษฎรในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ในปี 2556 นับจากนั้นได้พระราชทานแก่ผู้ประสบภัยและราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลและพื้นที่ทุรกันดารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบล โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในปี 2558 ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืช และขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช 3 สายพันธุ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อ ดังนี้
ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 เป็นถั่วฝักยาวพันธุ์เนื้อ ฝักสีม่วงยาว ให้ผลผลิตสูง ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 เป็นถั่วฝักยาวลายเสือ สีเขียวสลับม่วง ฝักยาว ให้ผลผลิตสูง เนื้อแน่น และพริกขี้หนู ปู่เมธ พริกขี้หนูพุ่มเตี้ย ผลชี้ตั้งขึ้น ผลดกติดกันเป็นช่อ เหมาะสำหรับปลูกใส่กระถาง
ปี 2559 นี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ถั่วแขกสายพันธุ์ใหม่อีก 1 สายพันธุ์ เป็นถั่วแขกพันธุ์เลื้อย ฝักสีม่วงเข้ม ผลผลิตสูง และได้ผ่านการทดสอบตามหลักวิชาการเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อถั่วแขกสีม่วงนี้ว่า “ถั่วแขกสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1” เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2558
มูลนิธิชัยพัฒนาได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ และในวันนี้กรมวิชาการเกษตรได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรรับรอง ถั่วแขกสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 ขึ้นทะเบียนพันธุ์ตามพระราชบัญญัติ 2548
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน แปลงผักที่ทรงนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศพระราชทานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทดลองปลูก และแปลงผัดสดปลอดภัย ที่นำมาจำหน่ายและใช้ประกอบอาหารในร้านจันกะผัก ภายในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์ เพ็ญศิริ
นับตั้งแต่ปี 2552 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชสะสมสำรองไว้ และต่อยอดถึงการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่ดีมีมูลค่าและมีคุณภาพ เพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกโดยเชื้อพันธุ์อันเป็นมงคล เมื่อเกษตรกรได้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ย่อมจะได้ผลผลิตที่คงคุณภาพและคงลักษณะเด่นได้ครบถ้วน แม้จะปลูกต่อจนเป็นรุ่นลูกและรุ่นหลาน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จังหวัดเชียงราย ผลิตน้ำมันหลัก 4 ชนิด ได้แก่ น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันเมล็ดไนเจอร์ น้ำมันเมล็ดงาม้อน น้ำมันมะรุม และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันเมล็ดชาเป็นส่วนประกอบ เช่น เครื่องสำอางชนิดต่างๆ อาทิ สบู่ ครีมกันแดด เซรั่ม ครีมบำรุงผิว ฯลฯ ทั้งนี้ ในปี 2558 ศูนย์ฯ ได้ผลิตน้ำมันเพิ่ม 1 ชนิด ได้แก่ น้ำมันทรีโอ-โอเมก้า 3 6 9 ซึ่งเป็นน้ำมันเมล็ดชาผสมกับน้ำมันเมล็ดงาม้อนและน้ำมันเมล็ดไนเจอร์ ในสัดส่วนที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีโอเมก้า 3 6 และ 9 ตามที่ร่างกายต้องการ อีกทั้งยังมีวิตามินอี วิตามินบี และมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อม ลดการอักเสบ ช่วยลดไขมันในเลือดและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้
ต่อมา ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติและคณะนักวิจัย กราบบังคมทูลรายงานผลการวิจัยและการพัฒนาประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชาน้ำมันและงาม้อน ได้แก่ โครงการสารสกัดสีธรรมชาติจากเปลือกผลชาน้ำมัน โครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าเปลือกผลชาน้ำมันในรูปของวัสดุดูดซับ โครงการการพัฒนาตำรับอิมัลชั่น ชนิดเกิดได้เองของน้ำมันเมล็ดชาและน้ำมันงาขี้ม้อน โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากน้ำมันเมล็ดชา และโครงการการสกัดซาโปนินจากกากเมล็ดชาน้ำมันและการนำไปใช้ประโยชน์
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินโดยรถกอล์ฟพระที่นั่ง ทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบสวนสมุนไพร โดยมีคณะกรรมการสวนสมุนไพร กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสวนสมุนไพรป่ายูคาลิปตัส และทรงปลูกต้นจันทน์กะพ้อ ตามลำดับ ต้นจันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นเรียบ เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพู เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ดอกมีกลิ่นหอมค่อนข้างแรง สามารถนำดอกมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลม และบำรุงหัวใจได้ นิยมนำมาทำน้ำปรุง ในโอกาสนี้คณะกรรมการสวนสมุนไพร ได้กราบบังคมทูลรายงานแผนการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ในแนวทางการอนุรักษ์ผืนป่าเดิม โดยจะพัฒนาพื้นที่เป็น สวนสมุนไพร แบบวัลยชาติ เน้นไม้เลื้อยไม้เถา เพื่อคงสภาพป่าให้มากที่สุด ทั้งนี้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าในการเตรียมพื้นที่และปรับปรุงดินเพื่อขยายพันธุ์สมุนไพร และงานเตรียมปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมัก
ต่อมาเสด็จฯ ถึงโรงงานผลิตน้ำมัน ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพใหม่ ซึ่งปรับปรุงให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับปริมาณน้ำมันที่มากขึ้นทุกปีได้ พร้อมทั้งทรงรับฟังแผนการปรับปรุงโรงงาน และขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันฯ ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทูลเกล้าฯ ถวาย ใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ที-ซาโปนิน ซึ่งเป็นยากำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันเมล็ดชา จากนั้นคณะนักวิชาการ กราบบังคมทูลรายงานเรื่องการใช้ประโยชน์จากกากชาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และทอดพระเนตรร้านขายของที่ระลึกเมล็ดชา ทรงประกอบอาหารเพื่อเป็นเมนูพระราชทานแก่ร้านเมล็ดชา คือ เต้าหู้ทรงเครื่อง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินการในปี 2554 ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมัน ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนผลิตผลิตภัณฑ์จากกากวัตถุดิบที่เหลือ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์
สูงสุดจากทุกส่วนของพืชนั้นๆ นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันแห่งนี้เป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถเข้าชมได้ทุกจุดของการดำเนินงาน สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งปี มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สะอาด และคำนึงถึงระบบสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ รวมถึงมีระบบควบคุมการใช้พลังงาน และรูปแบบที่ทันสมัย สวยงาม และมีสีสัน ในขณะที่บริเวณด้านนอกได้รับ การออกแบบให้เป็นส่วนพักผ่อนสาธารณะ ซึ่งเป็นทั้งจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับ พืชน้ำมัน ปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชมและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขยายและบริการให้กับขุมชนในอำเภอแม่สายและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนให้บริการนักท่องเที่ยวทั่วไปด้วย